ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อ่างเก็บน้ำพระราชทาน เปลี่ยนชีวิตพลิกผืนนาเป็นสวนทุเรียนหมอนพระร่วง
ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จากผืนดินแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำในอดีต วันนี้กลับเขียวขจีด้วยสวนผลไม้และแปลงนาเขียวครึ้ม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแนวทางการจัดการน้ำอันชาญฉลาด เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่อย่างถาวร
นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อํานวยการสํานักงานชลประทานที่ 4 กรมชลประทาน เผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นวิศวกรชลประทานที่แท้จริง โดยได้มีพระราชดำริให้วางระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ด้วยการทำทางกั้นน้ำเป็นช่วง ๆ แล้วผันเข้าคลองธรรมชาติที่มีอยู่เดิมทั้งด้านซ้ายและขวาของแม่น้ำยมที่ได้ขุดลอกให้สามารถส่งน้ำไปกักเก็บไว้ตามหนองบึงธรรมชาติ รวมทั้งให้พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เหนือจังหวัดสุโขทัย ตามลำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำยม เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำหลากในหน้าฝน และขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอ่างเก็บน้ำห้วยทรวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นโครงการที่พระองค์ได้ทรงวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านการอุปโภค บริโภค และการเกษตรให้แก่ราษฎร กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค
สำนักงาน กปร. และกรมชลประทานได้ร่วมสนองแนวพระราชดำริ ดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในปี 2549 แล้วเสร็จในปี 2553 สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอนาคตมีแผนจะเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำ เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ของราษฎรในการประกอบอาชีพ ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มก่อสร้าง ปี 2561 แล้วเสร็จ ปี 2564 ปัจจุบันกักเก็บน้ำได้ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในปี 2568 ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่โครงการให้สัญจรได้สะดวก ราษฎรสามารถขนส่งพืชผลทางการเกษตรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย และยังเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำเป็น 7.33 ล้านลูกบาศก์เมตร และใน ปี 2569 มีแผนจะก่อสร้างระบบส่งน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรในหน้าฝน 4,500 ไร่ และในหน้าแล้ง 2,000 ไร่ โดยคาดว่าแผนจะแล้วเสร็จปี 2571 ทำให้โครงการมีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สร้างความยั่งยืนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ต่อไป
“มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่ม มีน้ำใช้ในภาคครัวเรือนอย่างเพียงพอ และต่อยอดแหล่งน้ำตามรายทางของลำน้ำเพิ่มเติม เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่ปลูกพืชให้ผล เช่น ลองกอง ทุเรียน ซึ่งใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่าการทำนา โดยโครงการฯ จะส่งน้ำผ่านระบบท่อเข้าสู่แปลงเพาะปลูกอย่างทั่วถึง บริเวณด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง ได้สร้างฝายทดน้ำศรีเชลียงพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อกระจายน้ำให้พื้นที่ด้านท้ายน้ำประมาณ 33,287 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปีและทำไร่อ้อย มีรายได้ประมาณ 135,456,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำจากโครงการฯ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล กล่าว
หากใครเดินทางมาเยือนบ้านนาต้นจั่น จะได้เห็นภาพสวนผลไม้เรียงรายตลอดแนวเนินเขา โดยเฉพาะ“ทุเรียนหมอนพระร่วง” ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในพื้นที่ศรีสัชนาลัย ได้รับการขนานนามจากการประกวดชื่อพันธุ์ในชุมชน รสชาติไม่หวานจัด เนื้อแน่นแห้ง ไม่แฉะ ถูกปากผู้บริโภค พ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงแปลง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง
“เมื่อก่อนปลูกถั่ว ข้าวโพด เพราะไม่มีน้ำ เดี๋ยวนี้ปลูกลองกอง มะนาว ส้มโอ ทุเรียน รายได้ดีขึ้นทุกปี ประมาณ 2,000 ครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 5,000 - 6,000 ไร่ ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ทุเรียนปีที่แล้วขายได้ กิโลกรัมละ 120 – 150 บาท นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้พระราชทานโครงการนี้มาให้ชาวบ้านได้ทำกินอย่างสมบูรณ์ สามารถลืมตาอ้าปากได้ในทุกวันนี้”
นายมงคล พึ่งกุศล กำนันตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในชุมชน
“วันนี้ชาวบ้านทำเกษตรได้ตลอดปี รายได้มั่นคง มีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลน ไม่มีอีกแล้วความกังวลเรื่องน้ำหลากน้ำแล้งเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้ชาวบ้านเห็นความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และรักษาแหล่งน้ำ โดยร่วมกันดูแลพื้นที่ต้นน้ำและรอบอ่างเก็บน้ำฯ ได้มีกิจกรรมปลูกต้นไม้พื้นที่ต้นน้ำและรอบ ๆ อ่างเก็บน้ำทุกปี”
นายจิระพงษ์ ใจสุกใส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
ความสำเร็จของโครงการพระราชดำริไม่ได้หยุดอยู่แค่รายได้ แต่ยังปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้กับชาวบ้าน ชาวบ้านร่วมใจกันปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำและรอบอ่างเก็บน้ำเป็นประจำทุกปี ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไร่ฯ และโครงการอ่างเก็บห้วยทรวงฯ คือ เครื่องพิสูจน์ถึงความยั่งยืนและสายพระเนตรที่กว้างไกลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้วางรากฐานแนวการพัฒนาที่เกิดจากความเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง วันนี้บ้านตึก “หมดห่วง” แล้วจริง ๆ