ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
การมีบ้านไทยแสดงถึง “วิถีไทย” หลาย ๆ อย่าง คือ “ความเป็นไทย” ไปตั้งแต่เกิดจนตาย
บ้านไทยที่ซอยสวนพลูของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่ยังไกลไปถึงต่างประเทศ ไม่ใช่ด้วยเพราะมีเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ เกิดขึ้นกับบ้านหลังนี้มากมาย แต่บ้านหลังนี้ยังรวม “ความเป็นไทย” ไว้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ !
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ถ้าไม่ได้มาทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐก็ไม่เกิดบ้านหลังนี้
ตอนนั้น (พ.ศ. 2493) บ้านเมืองเริ่มเข้าที่เข้าทางหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบมาได้ 5 ปี ในกรุงเทพฯมีการซ่อมแซมและก่อสร้างอาคารบ้านเรือนใหม่ ๆ ในบริเวณที่ถูกทำลายจากการโจมตีของสัมพันธมิตร ผู้ดีเก่าที่เคยมีบ้านเรือนสร้างด้วยไม้ก็เปลี่ยนไปปลูกเป็นตึกก่ออิฐฉาบปูนแข็งแรง เรือนไทยหลายหลังจึงถูกรื้อแล้วเลหลังประกาศขายในราคาที่ไม่แพง รวมถึงเรือนโถงหลังใหญ่ที่ถูกรื้อมากองไว้หลังศาลาว่าการจังหวัดพระนคร (อาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหลังเก่าที่เสาชิงช้าในปัจจุบัน) ที่สะดุดตาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เข้าในวันหนึ่ง
กิจวัตรอย่างหนึ่งในการทำงานของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่สยามรัฐก็คือ การไปหารับประทานอาหารอร่อย ๆ ในมื้อกลางวัน ที่ร้านดัง ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ และรายรอบโรงพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นที่บางลำพู เทเวศร์ นางเลิ้ง และเสาชิงช้า วันหนึ่งเมื่อจะกลับโรงพิมพ์จากร้านอาหารที่เสาชิงช้า ได้นั่งรถผ่านมาทางด้านหลังศาลาว่าการจังหวัดพระนคร จึงได้เห็นไม้ฝากระดาน เสา คาน พื้น จั่วหลังคา และส่วนประกอบอื่น ๆ กองอยู่ตรงนั้น ก็สะดุดตาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ขึ้นในทันที จึงให้คนที่สยามรัฐไปถาม ทราบว่าเป็นเรือนไม้แถว ๆ นั้นที่เจ้าของรื้อลงมาประกาศขาย ในราคา 8,000 บาท ไม่กี่วันต่อมาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ไปซื้อมา แล้วขนไปไว้ในที่ดินที่ท่านซื้อไว้ที่กลางซอยสวนพลู ถนนสาธร
ดังที่ได้เล่ามาแล้วว่า ย่านถนนสาธรนี้พัฒนามาจากคลองสาธร ที่ขุดขึ้นโดย “เจ้าสัวยม” ที่ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น “หลวงสาธรราชายุตก์” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่าพี่สาวของท่าน คือ ม.ร.ว.บุญรับ ได้ซื้อที่ดินตรงนั้นไว้หลายไร่ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วแบ่งให้ท่านประมาณ 5 ไร่ โดยซื้อจากคนจีนที่มีทำสวนปลูกพลู ในราคาตารางวาละ 7 บาท พอดีช่วงนั้นที่ท่านกลับมาจากการเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ที่ลำปาง ใน พ.ศ. 2487 ท่านยังไม่มีบ้านอยู่ พี่สาวของท่านจึงให้ท่านกับครอบครัว(ภรรยาและลูก 2 คน)ไปอยู่ที่บ้านเช่าของพี่สาวที่ปากซอยสวนพลูไปพลาง ๆ และได้แบ่งขายที่ดินในซอยนี้ให้ดังกล่าว แล้วท่านก็ปล่อยทิ้งไว้ แต่ก็แวะเข้าไปดูอยู่บ้าง เนื่องจากว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ลุ่ม มีระดังค่อนข้างต่ำ มีคูน้ำอยู่ทั่วบริเวณ เพราะถูกขุดเป็นร่องสวนมาแต่ก่อน จึงคิดไว้แต่ตอนแรกว่า คงจะมาขุดทำเป็นสระ เอาดินมาถมขอบสระ แล้วปลูกศาลาหรือเรือนเล็ก ๆ ริมน้ำไว้นั่งดูนกดูปลา จนกระทั่งในวันที่ไปซื้อเรือนไทยเก่าจากหลังศาลากลางจังหวัดพระนคร จึงเกิด “ปิ๊ง” ขึ้นมาทันทีว่าอย่างนี้ต้องสร้าง “เรือนไทย - บ้านไทย”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นึกถึงเรือนของ “ขุนช้าง” คหบดีหัวล้านในเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ที่อาจจะเป็น “ความเป็นไทย” ส่วนหนึ่งที่ฝังเข้าสู่ตัวท่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่ท่านได้อ่านวรรณคดีเรื่องนี้ ร่วมกับที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านละครนอกและเพลงร้องต่าง ๆ ที่ท่านได้ดูได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ๆ นั้นด้วย ดังที่ท่านบอกว่าท่านจำบทกลอนในเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ได้หลายตอน อย่างบทที่ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อจะไปลักตัวนางวันทอง ที่ว่า
โจนลงกลางชานร้านดอกไม้ ของขุนช้างปลูกไว้อยู่ดาษดื่น
รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน ชื่นชื่นลมชายสบายใจ
กระถางแถวแก้วเกดพิกุลแกม ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดูไสว
สมอรัดดัดทรงสมละไม ตะขบข่อยคัดไว้จังหวะกัน
ตะโกนาทิ้งกิ่งประกับยอด แทงทวยทอดอินพรหมนมสวรรค์
บ้างผลิดอกออกช่อขึ้นชูชัน แสงพระจันทร์จับแจ่มกระจ่างตาฯ
ภาพในฉากละครนอกเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ท่านเคยเห็นก็คือ หมู่เรือนไทยหลังใหญ่ มีเรือนโถงตั้งอยู่กลางเรือน ข้าง ๆ มีเรือนนอน เรือนนั่ง เรือนครัว หอนก และหอพระ อยู่รายรอบ มีบันไดขึ้นลงอยู่ตรงกลางและด้านข้าง หมู่เรือนยกสูงจากพื้นเหนือศีรษะ มีกระดานปูพื้นเชื่อมเรือนทุกหลังนี้เข้าด้วยกัน กลายเป็นนอกชานที่จัดวางกระถางต้นไม้ดอกไม้ต่าง ๆ ดังที่บทกลอนข้างต้นได้พรรนาไว้
แต่กระนั้นตอนนั้นท่านก็มีเพียงเรือนโถงเพียงหลังเดียว ท่านจึงให้นายเชื่อม เล็กประทุม คนรถคู่ใจ ซึ่งตระกูลของนายเชื่อมเป็นคนอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครั้งที่ประเทศไทยยังมีระบบศักดินา คนแถวนั้นได้ถูกเกณฑ์มาเป็น “ไพร่ฝีพาย” ในขบวนเรือหลวงและกองทัพเรือ และเสด็จปู่ของท่านคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ได้คุมกองทัพเรือ แม้จะหมดสมัยศักดินาแล้ว แต่คนแถวนั้นก็ยังถือตัวว่าเป็นคนในวังของ “กรมขุนวรจักร” และมาอยู่รับใช้จนถึงสมัยของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านจึงให้นายเชื่อมไปหาซื้อบ้านไทยแถวอยุธยานั้นมาเพิ่มอีก 2 หลัง พร้อม “ช่างปรุงเรือน” จำนวนหนึ่ง มา “ปรุง” หรือประกอบตัวเรือนไทยให้สวยงามและอยู่อาศัยได้ต่อไป
คนไทยนั้นต้องอยู่ติดแม่น้ำ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงให้ขุดบ่อเป็นแนวยาวรูปพระจันทร์เสี้ยว ตรงกลางที่ดินค่อนไปทางทิศใต้ ตีโค้งออกไปจรดขอบที่ดินด้านตะวันตก กว้างราว 10 เมตร ยาวประมาณ 80 เมตร ให้ดูเหมือนเป็นคุ้งน้ำ ตรงหัวโค้งคุ้งน้ำตรงกลางจึงเป็นเสมือนหน้าบ้าน ที่มีบันไดขึ้นเรือน พร้อมหอนกหรือหอนั่งหน้าเรือนตั้งอยู่ หน้าเรือนหันไปทางทิศใต้ ตรงกลางเป็นนอกชานคอนกรีต ขนาดกว้างประมาณ 8 เมตร ขนาบซ้ายขวาคือเรือนไทยที่ซื้อมาจากอยุธยา ซึ่งเป็นเรือนขนาด 3 ห้อง มีพาไลยื่นออกมาหน้านอกชานสวยงาม ตรงกลางนอกชานด้านทิศเหนือจึงเอาเรือนโถงที่ซื้อมาจากหลังศาลากลางจังหวัดพระนครมาตั้งวาง แล้วมีบันไดอีกหนึ่งบันไดอยู่หน้าเรือนนี้ทางทิศตะวันออก เพื่อลงไปที่ถนนออกนอกบ้าน ที่อยู่ทางทิศเหนือ ตัวเรือนในช่วงแรกจึงมีอยู่ประมาณนี้
เรือนโถงตรงกลางนั้น วางแบบไว้ให้เป็นเรือนรับรองหรือห้องรับแขก สำหรับเรือนขนาด 3 ห้องหลังที่อยู่ทิศตะวันออกทำเป็นเรือนนอน มีห้องน้ำในตัวอยู่ใต้พาไลทางทิศใต้ ส่วนอีกหลังหนึ่งที่อยู่ทางทิศตะวันตก ตอนแรกก็ตั้งใจจะให้เป็นเรือนนอนอีกหลัง แต่ก็ได้ใช้เป็นเรือนทำครัวและที่รับประทานอาหารในช่วงแรก เพราะใต้ถุนยังเป็นดินและยังไม่ได้ต่อเติมเป็นห้องต่าง ๆ โดยที่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ท่านก็ได้มาอาศัยอยู่เพียงคนเดียว เพราะภรรยากับลูกชายและลูกสาวยังอยู่ที่บ้านปากซอยสวนพลู บ้านนี้จึงมีเรือนนอนเพียงหลังเดียวมาตั้งแต่บัดนั้น
อนึ่ง ที่เหนือประตูกลางทางเข้าไปในเรือนโถงจะมีไม้แกะสลักเป็นรูปใบพายยาวประมาณ 1 เมตรเศษ พาดประดับไว้ ก็เพื่อเป็นการระลึกถึง “พลฝีพาย” ที่สืบเชื้อสายเคียงคู่ราชสกุล “ปราโมช” มานับร้อยปี ผู้เป็นช่างมาปรุงเรือนไทยหมู่นี้ ยิ่งไปกว่านั้นบานประตูตรงนี้ ที่ทั้งคู่ทำจากไม้ตะเคียนเก่าแก่ที่มาพร้อมกับเรือนที่ซื้อ ก็มีประวัติว่า “เฮี้ยน” ยิ่งนัก เพราะมีบางโอกาสที่ “ตกน้ำมัน” แสดงอภินิหารต่าง ๆ ออกมา รวมถึง “คุณย่า” ที่เป็น “นางเอก” ของความเฮี้ยนนี้ด้วย ดังที่จะได้เล่าต่อไปเมื่อโอกาสนั้นมาถึง
“ชีวิตไทย” หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก แต่สำหรับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นท่านบอกว่า “จงทำตัวให้สบาย และปรับตัวไปตามวิถีไทยคู่กับวิถีโลก”