โครงการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รร.นายร้อย จปร. อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก มีจุดเริ่มต้นจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงต้องการให้นำพื้นที่รกร้างมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบ “พออยู่ พอกิน” ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเกี่ยวข้าวเมื่อปี 2542 และพระราชทานแนวทางให้จัดกิจกรรมเพาะปลูกให้นักเรียนนายร้อยเรียนรู้การใช้เครื่องจักรกลเกษตร

ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว ได้รับสนองพระราชดำริ ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รร.นายร้อย จปร. ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแปลงนาสาธิตสำหรับนักเรียน เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยเน้นการเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ได้จากการวิจัยและพัฒนา เช่น พันธุ์ข้าวใหม่และวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้จริง

มุ่งมาตร วังกะ

มุ่งมาตร วังกะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กล่าวว่า ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ได้ดำเนินงาน 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การปลูกข้าวฤดูนาปี ซึ่งในแต่ละปีจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาทดลองสาธิต ปีล่าสุด 2567 ได้เลือกปลูกพันธุ์ข้าว กข97 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งได้รับการรับรอง โดยหว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมใช้วิธีเกษตรผสมผสานและการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน โดยจะสำรวจโรคและแมลงก่อนใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมศัตรูพืช ผลผลิตที่ได้ในปีนี้ประมาณ 3,160 กิโลกรัม โดยแบ่งมอบให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 1,160 กิโลกรัม เกษตรจังหวัดนครนายก 1,000 กิโลกรัม และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครนายก 1,000 กิโลกรัม ทั้งนี้ผลผลิตส่วนใหญ่จะถูกจัดสรรเป็น เมล็ดพันธุ์คุณภาพ เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปทดลองปลูกในพื้นที่ของตนเอง

การปลูกพืชหลังนาในฤดูนาปรัง โดยเน้นแนวคิดการปลูกพืชหลังนาเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้เนื่องจากขาดแคลนน้ำ ในปีที่ผ่านมาโครงการได้ทดลองปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวพันธุ์เย้าและพันธุ์กระเหรี่ยงในพื้นที่สาธิต โดยปรับพื้นที่นาที่ใช้ปลูกข้าวในฤดูนาปีให้เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพด เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนายร้อย จปร. และเกษตรกรได้เข้ามาศึกษาวิธีการเพาะปลูกและเรียนรู้แนวทางการจัดการแปลงหลังนา

แปลงสาธิตแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ทดลองสำหรับนักเรียนนายร้อย จปร. เท่านั้น แต่ยังเปิดให้เกษตรกรทั่วไปเข้ามาศึกษาและดูงาน เพื่อเรียนรู้แนวทางการทำเกษตรผสมผสาน โดยมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงกรมวิชาการเกษตรที่จัดพื้นที่สาธิตการปลูกพืชสวนริมคันนา เพื่อให้เกษตรกรและนักเรียนนายร้อย จปร. เห็นว่าพื้นที่คันนาหรือกระทงนาสามารถนำมาปลูกพืชอื่น ๆ เป็นอาชีพเสริมหรือสร้างรายได้เพิ่มเติมได้ รวมทั้งยังสอดแทรกองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการเกษตรแบบยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสาธิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กรมการข้าวพัฒนาขึ้น และสามารถนำมาปรับใช้ในแปลงนาได้จริง เช่น การใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์หมักฟางเพื่อหลีกเลี่ยงการเผาฟาง ซึ่งช่วยลดการปล่อย PM 2.5 และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิธีนี้ช่วยร่นระยะเวลาการย่อยสลายฟาง ทำให้เกษตรกรสามารถเตรียมดินเพาะปลูกได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องเผาฟาง

พร้อมทั้งมีการแนะนำพันธุ์ข้าวใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงและปรับตัวได้ดีในสภาพพื้นที่ต่าง ๆ เกษตรกรสามารถเข้ามาเรียนรู้และสังเกตด้วยตนเองว่าพันธุ์ข้าวใดเหมาะสมกับพื้นที่ของตน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการปลูกข้าวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น พื้นที่นาในโรงเรียนนายร้อยที่ค่อนข้างลุ่มและเสี่ยงต่อน้ำท่วมในฤดูนาปี ทำให้พันธุ์ข้าวที่ใช้ต้องมีความทนทานต่อสภาพน้ำท่วม

ทุกปี ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี จะคัดเลือกและทดลองพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด หากพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นไม่เป็นที่ยอมรับ ก็จะมีการปรับปรุงต่อเนื่องเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านผลผลิต คุณภาพ และความทนทาน ขบวนการเรียนรู้ร่วมกันนี้ทำให้พันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ถูกพัฒนาและรับรองทุกปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรว่าพันธุ์ที่เลือกจะให้ผลผลิตสูงและคุ้มค่า

การที่จะได้ผลผลิตที่ดีเริ่มต้นจากการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เพราะเมล็ดพันธุ์คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการเพาะปลูก หากใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการรับรอง มั่นใจได้ว่ามีความบริสุทธิ์ตรงตามสายพันธุ์ ย่อมส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณสูงตามมาตรฐาน ในทางกลับกันเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมักก่อให้เกิดปัญหาพันธุ์ปนและวัชพืช ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร

 

“แปลงสาธิตแห่งนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ทดลอง แต่เป็นต้นแบบของความร่วมมือหลายภาคส่วนที่มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เปิดโอกาสให้นักเรียนนายร้อย จปร. เยาวชน และเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้จริง เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่นำไปประยุกต์ใช้ในแปลงของตนอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กล่าวทิ้งท้าย