เลี้ยงชันโรงหลายสายพันธุ์ถูกนำมาในสวนยางที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรีกว่า 600 รัง  นำมาแปรรูปเป็นน้ำผึ้งชันโรงใส่บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม อาชีพที่สร้างรายได้

วันที่ 17 ก.ค.68 บริเวณสวนยางพารา ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 6 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี  ที่อยู่ระหว่างการกรีดน้ำยางเพื่อทำเป็นยางก้องขาย  ระหว่างแถวต้นยาง ได้มีการเลี้ยงชันโรงประมาณ 6 สายพันธุ์ จำนวนมากกว่า 600 รัง มีลักษณะการเลี้ยงทั้งใช้แบบการใช้ขอนไม้เก่า และเป็นกล่องไม้ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง มีหลังคากระเบื้องปิดทับเอาไว้ให้ชันโรงอยู่อาศัย ตั้งเป็นเสาร์สูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อย ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น ให้ชันโรงหรือผึ้งจิ๋วได้ออกหากินอาหารจำพวกเกสรดอกไม้ป่า ทำให้น้ำหวานมีรสชาติที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่   

นางไพรินทร์ ชูรอด ประธานวิสาหกิจชุมชนรินชูชันโรงบ้านบางกล้วย อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี พร้อมด้วยสามีและลูกสาว กำลังช่วยกันเก็บน้ำผึ้งชันโรงด้วยอุปกรณ์เครื่องดูด แต่ละสายพันธุ์ลงบรรจุขวดด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากตัวชันโรงจะคอยบินวนรบกวนตอมตามตัว เส้นผม และเสื้อผ้า โดยเฉพาะคนที่ใส่เสื้อผ้าที่มีสีดำจะมีตัวชันโรงไปตอมเกาะไม่ยอมไปไหน  แต่ละกล่องจะมีการจดบันทึกไว้ด้านหน้าในการเก็บน้ำผึ้งชันโรงแต่ละครั้ง  เพื่อง่ายและสะดวกในการดูดเก็บน้ำผึ้งนำไปบรรจุขวด 

นางไพรินทร์ ชูรอด ประธานวิสาหกิจชุมชนชันโรงบ้านบางกล้วย กล่าวว่า พื้นที่เลี้ยงชันโรงที่ อ.วัดเพลงมีน้อย จึงอยากขยายเพิ่มพื้นที่มาอยู่ในสวยยางที่ อ.สวนผึ้ง โดยมีเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นสวยยางพาราได้ให้โอกาส จึงเข้ามาเลี้ยงชันโรง มองว่าสามารถเลี้ยงได้ เพราะช่วงที่เข้ามาเห็นตัวชันโรงพันธุ์พื้นถิ่นบินตอมดอกไม้ ส่วนพันธุ์ชันโรงนำมาจากหลายจังหวัดเพื่อเอามาไขว้ไม่ให้เลือดชิดกัน มีอยู่ทั้งหมด 6 สายพันธุ์ เช่น พันธุ์โทราซิก้า ปากแตรใหญ่ อิตาม่า ขนเงิน ไข่แผง เอพิคาริจ แต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน ถ้ากายภาพจะต่างกันที่สีและขนาดไซส์  ลำตัว ที่สวนยางพาราเลี้ยงอยู่ประมาณ 600 รัง ส่วนที่ อ.วัดเพลงก็ประมาณอีก 600 รัง  

ส่วนการเก็บเกี่ยว ถ้าเป็นพันธุ์เล็กขนเงิน จะใช้เกียงตักน้ำผึ้งเอามากรอง ส่วนถ้าเป็นพันธุ์ตัวใหญ่ จะใช้อุปกรณ์เครื่องดูด ข้อดีของตัวดูดน้ำผึ้ง จะไม่ทำลายรังเลี้ยงเสียหาย  เวลาเก็บน้ำผึ้งเสร็จแล้ว ตัวชันโรงจะซ่อมแซมรังทำให้ไม่เหนื่อยมาก ลดภาระการซ่อมแซมรังอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนอัตราเก็บน้ำผึ้งต่อรังได้ประมาณ 1 ลิตร เก็บทุก 6 เดือน  เก็บประมาณครึ่งหนึ่งคือ 50 เปอร์เซ็นต์ของรัง  อีก 6 เดือนก็จะมาเก็บส่วนที่เหลือในรังต่อไป ทั้งหมดสามารถเก็บได้ปริมาณต่อปีน่าจะอยู่ที่ 50 กิโลกรัม  มีราคาจำหน่ายอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 1,500 บาท ส่วนช่องทางจำหน่ายอยู่ที่หน้าเพจ และการฝากขายที่ตลาดท่องเที่ยวโอ๊ะป่อย อ.สวนผึ้ง และเพื่อน ๆ พันธมิตรเกษตรอินทรีย์ มีการจำหน่ายราคาขนาดตั้งแต่ขวดละ 600-1,500 บาท การเลี้ยงชันโรงจะมีศัตรูคือตุ๊กแก จิ้งจก แต่ที่สวนยางจะมีมวลเพชรฆาตอาศัยอยู่ ซึ่งไม่ได้ทำลายถึงจะเป็นศัตรูกับชันโรง จะปล่อยให้อยู่ร่วมกันในพื้นที่ สำหรับรสชาติของน้ำผึ้งชันโรงจะมีความแตกต่างกัน ถ้าเป็นพันธุ์ขนเงินพื้นถิ่น จะมีรสชาติหวานนำเปรี้ยวตาม ถ้าเป็นพันธุ์อิตาม่า ซึ่งเป็นพันธุ์ป่าจะมีรสชาติเปรี้ยวนำหวานตาม

สำหรับสรรพคุณของน้ำผึ้งชันโรงที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในตัวน้ำผึ้งจะมีสารฟลาโวนอยด์ ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค ยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา และจุลินทรีย์ รวมถึงช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย มีเอนไซม์ ที่ช่วยดูดซึมสารอาหาร ส่งเสริมให้ปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ ในร่างกายดำเนินไปอย่างสมดุล มีโพรไบโอติก กลุ่มแบคทีเรีย หรือ ยีสต์ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารและระบบอื่นๆ ยังสามารถช่วยลดอาการไอ เจ็บคอ ลดอาการเหนื่อยล้า ช่วยฟื้นฟูปรับสมดุลให้ร่างกายและช่วยผ่อนคลายหลับง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นผิว และยังช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง

สำหรับผู้สนใจอยากเลี้ยง หรือศึกษาข้อมูล สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เฟซบุ๊ก รินชูชันโรงบ้านบางกล้วย หรือ เบอร์ 095-5859298, 063-1494467