วันที่ 17 ก.ค.2568 เวลา 15.08 น. รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณารายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 66 และรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินประจำปีงบประมาณ 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีผู้อภิปรายไปเพียงคนเดียวคือนายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม. พรรคประชาชน ทำให้นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สส.ภูเก็ต พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายว่า เห็นสมาชิกในห้องประชุมบางตาอยากจะเช็คความตั้งใจการทำงานของสส.ฝ่ายรัฐบาล จึงขอนับองค์ประชุม และมีผู้รับรองถูกต้อง

ทำให้นายพิเชษฐ์ กดออดเรียกสมาชิกให้เข้าห้องประชุม พร้อมกล่าวว่า “ไม่อยากอภิปรายแล้วหรือ ” พร้อมทั้งขอให้วิปรัฐบาลแจ้งสส.ที่อยู่ในห้องประชุมอื่นเพื่อรีบเข้าห้องประชุมใหญ่

ขณะที่นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การขอนับองค์ประชุม และมีผู้รับรอง ถือเป็นสิ่งสวยงาม แต่หากมีคนเสนอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ คงใช้เวลาถึงค่ำ ดังนั้น ขอร้องเพื่อนสมาชิก เดือนนี้ขออย่านับองค์ประชุมเลย แล้วไปนับองค์ประชุมเดือนหน้า ขอให้ประชุมงบประมาณปี 69 เสร็จก่อน

แต่นายพิเชษฐ์ ได้ตัดบท ขอให้สมาชิกได้กดแสดงตน แต่นายเอกราช ได้ลุกขึ้นประท้วงว่า การนับองค์ประชุมวันพฤหัสบดี สมัยที่แล้วนายพิเชษฐ์ ขอนับองค์ประชุมบ่อยที่สุด ดังนั้น คิดว่าประธานคงเข้าใจสส.ฝ่ายค้านดี แต่ถูกนายวัชระพล ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสนอด้วยการนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อจะได้รู้ว่า สส.คนใด จังหวัดใดมาทำงานและไม่มาทำงานบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทำให้สส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลลุกขึ้นโต้เถียงกันเรื่องการนับองค์ประชุมกันไปมา ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรเพื่อไทย และรมช.คลัง เสนอว่า ตามข้อบังคับการประชุมอำนาจการกำหนดวิธีตรวจสอบองค์ประชุม เป็นหน้าที่ของประธานที่ประชุมไม่จำเป็นต้องมาโหวตว่าจะใช้วิธีการใด

นายพิเชษฐ์ ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งว่า เราก็อะลุ่มอล่วยกัน และพยายามไม่ให้ขัดแย้งกัน ถ้าเรานับแบบขานชื่อ บางจังหวัดต้องนอนค้างอีก 1 คน เพราะเราจะใช้เวลาเยอะมาก ดังนั้น ขอให้คณะกรรมาธิการงบประมาณ และอนุกรรมาธิการทั้งหลายตอบข้อซักถาม และไปประชุมกับข้าราชการที่มาชี้แจง วันนี้จึงขอปิดการประชุม ก่อนจะปิดในเวลา 15.30 น.