อพท. เปิดเวทีสร้างการรับรู้การขับเคลื่อนโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่องโยง (พ.ศ.2566-2570) 

วันที่16 ก.ค.68 ที่ห้องตราดซิตี้ฮอลล์  โรงแรมตราดซิตี้  ตำบลวังกระแจะ  อำเภอเมืองตราด นายชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานเปิดเวทีการสัมมนาสร้างการรับรู้การขับเคลื่อนโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่องโยง (พ.ศ.2566 – 2570)   ซึ่งสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.หมู่เกาะช้าง) จัดขึ้นโดยมีหน่วยงานภาครัฐ  รัฐวิสหกิจ หน่วยงานภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว และผู้สนใจเข้าร่วม

นายสมจินต์ ชาญกระบี่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.หมู่เกาะช้าง)  กล่าวว่า  การจัดเวทีสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการสร้างการรับรู้และทบทวนเป้าหมายของ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง พ.ศ. 2566-2570 และทบทวนเป้าหมายสำหรับการจัดทำ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง โดยให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางของสภา พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  อีกทั้งยังเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้แผนมีความครอบคลุมและนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงวางโครงร่างการพัฒนาระยะยาวของ พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้าน นายชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า  เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ยังเป็นเกาะที่เต็มไปด้วยศักยภาพ ทางการท่องเที่ยว อพท. จึงได้รับมอบหมายให้ฟื้นบทบาทในการพัฒนาพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงอีกครั้ง  การกลับมาอย่างจริงจังในครั้งนี้ อพท. จะเดินหน้าพัฒนาไปด้วยกันกับพื้นที่อย่างเป็นระบบ  เริ่มต้นตั้งแต่การทบทวนเป้าหมายการพัฒนาที่เคยกำหนดไว้ในอดีต ร่วมกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับรัฐบาลจนถึงหน่วยงานในพื้นที่  โดย อพท.ไม่ใช่เพื่อเข้ามาแทนที่หรือทับซ้อนบทบาทของหน่วยงานใด แต่เพื่อเข้ามาเสริม เติมเต็ม และสนับสนุนหน่วยงานที่มีอยู่แล้วให้ทำงานได้สะดวกและมีทิศทางร่วมกันมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับฉันทามติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันกับ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างแล้ว  จึงจะนำไปสู่การเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ต่อไป  

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะต้องมีความสอดคล้องกับกรอบนโยบายและแผนระดับชาติในทุกระดับ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2  แผนพัฒนาจังหวัดตราด แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว ภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงแผนงานและนโยบายสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง