วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ได้มีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 โดยมีการเสนอชื่อนายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอัยการสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ผลการออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบ 172 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 0 คะแนน งดออกเสียง 14 คะแนน จึงได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด

นายอิทธิพร แก้วทิพย์ ว่าที่อัยการสูงสูงสุด คนที่ 20 สำเร็จการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 35 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และ นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มรับราชการ พ.ศ. 2530 ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย จากนั้นเจริญก้าวหน้าตามลำดับสายงาน

พ.ศ.2543   อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี
พ.ศ.2547   อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดนครนายก
พ.ศ.2548   อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์  
พ.ศ.2549       อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนครสวรรค์
พ.ศ.2550   อัยการจังหวัดสีคิ้ว พ.ศ.2551   อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคดีศาลแขวง
พ.ศ.2558   อัยการพิเศษฝ่าย  สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 สำนักงานคดีอาญา
พ.ศ.2562   รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา                                            

พ.ศ.2563   อธิบดีอัยการ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ
พ.ศ.2564   อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา                                             

พ.ศ.2565   รองอัยการสูงสุด

อีกทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ใน พ.ศ. 2563 - 2565 และยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านการอบรมหลักสูตรสำคัญต่าง ๆ ที่เสริมสร้างศักยภาพ ในการบริหารงานยุติธรรม อาทิ หลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง รุ่นที่ 86 หลักสูตรการบริหารตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 33 หลักสูตรนักบริหารกระบวนการยุติธรรมชั้นสูง (บยส.) รุ่นที่ 24 หลักสูตรนักบริหารงานยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 11 หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 26 หลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (นธป.) รุ่นที่ 12 

นอกเหนือจากภารกิจหลักในฐานะอัยการยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการในหลายองค์กรสำคัญ เช่น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ประธานอนุกรรมการ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ กระทรวงศึกษาธิการ  อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย กองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู กระทรวงศึกษาธิการ  กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน กระทรวงแรงงาน อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (คณะกรรมการ สสวท.)