ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง “...อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรที่จะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย ไม่ควรจะเอาของใหม่ไปปนกับของเก่า ควรจะรักษาของเก่าไว้เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของพลเมือง และสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงควรรักษาไว้...” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 26 ธันวาคม 2504 จากพระราชดำรัสนี้ ทำให้คนไทยในปัจจุบันได้เห็นอิฐเก่าๆ โบราณสถานมากมายในประเทศไทย และในหลายสถานที่อันเป็นเมืองเก่าได้ถูกรักษานำไปสู่การพัฒนาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แล้วไปสู่มรดกโลก อย่างที่เมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (แต่ในขณะเดียวกันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หรือกรุงเก่า มรดกโลกแห่งสภาพสารพัดปัญหา ต้องจัดทำรายงานถึงศูนย์มรดกโลก ยูเนสโก รับทราบของการแก้ปัญหากันเป็นอยู่ระยะๆ) กล่าวถึงอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อผ่านไปครั้งใดเป็นต้องแวะชมโบราณสถานน้อยใหญ่จำนวนมากมายที่ตั้งอยู่ภายในเมืองและกลุ่มอยู่นอกเมือง โดยหลักๆ แล้วมุ่งไปที่ศาสนสถานของศูนย์กลางเมืองในอดีต คือ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ และนอกเมืองกำแพงทางด้านทิศเหนือ ที่ตั้งของกลุ่มโบราณสถานที่เรียกเขตอรัญญิก วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่ ฯลฯ รวมราว 40 แห่ง ตั้งอยู่ในกลุ่มพื้นที่ติดต่อกันเป็นผืนเดียวกันท่ามกลางป่าธรรมชาติหรือป่าโบราณ ซึ่งเขาว่ากันว่ายังคงบรรยากาศพุทธสถาน เขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีต อย่างล่าสุดต้นหนาวมานี้ ได้แวะไปอัพเดตภาพถ่ายวัดพระสี่อิริยาบถ วัดอาวาสใหญ่ เป็นหลัก เรื่องโบราณสถานกำแพงเพชรคงกล่าวโดยรวมๆ ตามข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร บนพื้นที่ราว 2,114 ไร่ของแม่น้ำปิง เกือบทั้งหมดเป็นศาสนถานในพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลักาวงศ์ มีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย (สุโขทัย) ด้านความโดดเด่น มิใช่เพียงแค่กลุ่มพุทธศาสนสถานจำนวนมากเท่านั้น ในมุมของงานสถาปัตยกรรมยังแสดงเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งในด้านการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง ความงดงามทางศิลปกรรม อันแสดงถึงฝีมือสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับการคุ้มครองขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ ปี พ.ศ. 2478 และมีการขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกในปี 2511 โบราณสถานได้รับการขุดแต่ง บูรณะ และพัฒนา เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2508 เรื่อยมา โดยโครงการอุทยานแห่งนี้ มุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มโบราณสถานทั้งภายในเมืองเนื้อที่ 503 ไร่ และเขตอรัญญิกเนื้อที่ 1,611 ไร่ จนลุมาถึงปี 2534 จึงดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการ และในปีเดียวกัน ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย หากนับปี 2534 ที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรขึ้นทะเบียนมรดกโลก ล่วงมาถึงปี 2559 ครบ 25 ปีพอดี อุทยานฯนี้มีการจัดกิจกรรมพิเศษอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะวันสำคัญทางพุทธศาสนา วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสฬหบูชา โดยใช้สถานที่วัดพระสี่อิริยาบถทำกิจกรรมแสดงพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบศาสนถาน ซึ่งชวนให้เข้าบรรยากาศพุทธสถานในป่า ดูขลังทีเดียว (หลายปีมาแล้วเคยไปร่วมหนหนึ่ง) ครั้นเมื่อถามเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ว่า “ยังจัดกิจกรรมนี้อยู่หรือไม่” คำตอบที่ได้คือ “ยกเลิก” จะด้วยข้อเหตุผลที่ว่าจังหวัด กรมศิลปากร ไม่มีงบสนับสนุนกิจกรรมนี้ หรืออ้างเหตุผลอื่นๆ มาประกอบก็สุดแล้วแต่ ในเมื่อยกเลิกก็จบ (ขี้เกียจถามต่อความยาวสาวความยืด) อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมพิเศษเนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ณ อุทยานฯนี้ อย่างน้อยเป็นช่องทางการส่งเสริมท่องเที่ยวโบราณสถาน และประชาชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับแหล่งเรียนรู้กลุ่มพุทธศาสนสถานเหล่านี้ควบคู่ไป ขณะที่อุทยานฯ อนุรักษ์และพัฒนาดำเนินไปเสมือน “มีชีวิต” ที่มิใช่อนุรักษ์แล้วดูชื่นชมกันเอง จึงไม่แปลกใจ จำนวนสถิติผู้เข้าชมปี 2559 มีเพียง 1.8 แสนกว่าคน จากข้อมูลอุทยานฯ กำแพงเชร อย่างไรก็ดี ยังชื่นชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรในด้านทัศนศึกษา ให้ความรู้เกี่ยวกับศาสนถานแต่ละที่นั้นใช้ได้ทีเดียว เมื่อนั่งรถราง ขับรถส่วนตัว หรือปั่นจักรยานเพลินไปกับป่าโบราณ เมื่อหยุดดูศาสนสถานใดมีแผ่นป้ายบอกเล่าแบบย่อๆ ให้ได้รับรู้ อีกมี QR โค้ด ภาษาไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ให้ได้สืบค้น เพียงแค่เอาโทรศัพท์มือถือทาบQR โค้ดโบราณสถานนั้นภาพและข้อมูลปรากฏ ทำให้ได้รับรู้ของศาสนสถานแห่งนั้นใช้สอยประโยชน์ด้านใด หรืออยากได้แผนที่ประกอบข้อมูลแบบพกพา(แผ่นพับ) ต้องไปที่ศูนย์ข้อมูลบริการ มีห้องนิทรรศการเล่าเรื่องประวัติเมืองกำแพงเพชรและโบราณสถานในรูปมัลติมีเดียให้ได้ชม จัดว่าบริการความรู้ครบครันให้กับผู้มาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์นี้ หนาวนี้เลยถือโอกาสชวนผู้อ่านไปสัมผัสบรรยากาศพุทธศาสนสถานกลางป่าอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร