การเสี่ยงโชคเป็นของคู่กันกับคนไทยมาช้านาน มีทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ซึ่งการเสี่ยงโชคที่ภาครัฐกำกับดูแล คือ การเสี่ยงโชคผ่าน “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” เป็นแหล่งความฝันของคนที่ชอบการเสี่ยงโชคได้ลุ้นเป็นเศรษฐีหน้าใหม่ในช่วงพริบตาทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน โดยบางครั้งมีผู้เป็นถูกรางวัลได้รับเงิน30 – 100 ล้านบาทก็มีให้เห็นเป็นประจำ
แต่การเสี่ยงโชคผ่านทางสลากกินแบ่งรัฐบาลใช้ว่าจะผลประโยชน์ในแง่ของคนที่ถูกรางวัลเพียงอย่างเดียว! กลับมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผลประโยชน์แบบที่ไม่ต้องเสี่ยงลุ้นโชคอะไร?
นั้นคือ “กลุ่มพ่อค้าคนกลาง” หรือ “ยี่ปั๋ว” ที่ได้รับผลประโยชน์จากการรวมรวมสลากจากผู้ที่ได้รับโควต้าจากสำนักงานสลากฯมาปล่อยสลากให้กับยี่ปั๋ว ก่อนที่จะส่งต่อให้กับผู้ค้าสลากรายย่อยทั่วไปที่ไม่มีโควต้าไปจำหน่วยต่อไป
ซึ่งหากพิจารณาขั้นตอนตั้งแต่สลากออกจากสำนักงานสลากกฯไปจนถึงมือประชาชน มีการผ่านมือหลายมือ ทำให้ต้นทุนของสลากมีราคาสูงขึ้น แม้ทางสำนักงานสลากฯ ได้จัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยราคาต้นทุนฉบับละ 70.40 บาท เพื่อให้จําหน่ายให้กับผู้ซื้อตามราคาที่กําหนด คือ ราคาฉบับละ 80 บาท หรือผู้ขายจะได้รับผลกำไรต่อ 1 ใบสลากคือ ฉบับละ 9.60 บาท
แต่แท้จริงแล้วหาใช้ราคาฉบับละ 80 บาท! กลับแพงกว่านั้น!บางครั้งราคาถีบสูงขึ้นไปเป็น 100-120 บาท
นั้นเป็นเพราะขั้นตอนระหว่างทางกว่าจะมาถึงประชาชน ทุกขั้นตอนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น!!!
และหนึ่งในขั้นตอนที่ทำให้สลากมีราคาสูงมาก คือ การรวบรวมหมายเลขสลากจากที่ต่างๆที่ได้โควต้ามาจับรวมเป็นชุดเดียวกัน จากจำนวนสลากที่สำนักงานสลากฯพิมพ์อยู่ 87 ล้านฉบับ
และนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำนักงานสลากฯต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้ไม่มีการรวมสลากเป็นชุด และยังเป็นการกระจายผู้ที่ถูกรางวัลให้มีมากขึ้น ไม่ใช่กระจุกอยู่กับคนเพียงไม่กี่คน
ทั้งนี้ทางสำนักงานสลากฯได้จัดทำประชาพิจารณ์ในความคิดเห็นเรื่องสลากรวมชุด ซึ่ง “ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย” กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะโฆษกกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า จากผลประชาพิจารณ์ผ่านเว็บไซต์เบื้องต้นว่า ร้อยละ 70 เห็นว่าควรทำสลากรวมชุด โดยเห็นว่าสลากแบบชุด 5 ใบ ราคาชุดละ 400 บาท มีความเหมาะสมและต้องการซื้อสลากแบบรวมชุดจากผู้จำหน่ายที่มีจุดจำหน่ายประจำ ที่ผู้จำหน่ายมีบัตรตัวแทนจำหน่ายแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
และล่าสุดในประชุม “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” เมื่อวันที่10 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ผ่านวาระ 1ในการพิจารณา “พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่... พ.ศ. ..... จำนวน 17 มาตรา” ตามที่ ครม.เสนอมา หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาก่อนที่จะเสนอเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาวาระที่ 2-3 ภายใน 45 วัน
“วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” รมช.คลัง กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ว่า การเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากรูปแบบใหม่ได้นั้น ถือเป็นการเพิ่มทางเลือก แต่ไม่ได้ยกเลิกการขายสลากรูปแบบเดิม สามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับสลากแบบเดิมได้ แต่การออกสลากรูปแบบใหม่นั้น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ครม.จะต้องให้ความเห็นชอบด้วย ในอนาคตหากมีการขายสลากผ่านเครื่องอัตโนมัติได้ ก็จะไม่มีการขายสลากเกินราคาอีก แต่จะต้องคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบด้วย เช่น ผู้ค้ารายย่อย มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ
สำหรับสาระสำคัญคือ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 เพื่อปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และกำหนดบทลงโทษความผิดกรณีจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญอยู่ที่มาตรา 7 ที่มีการเพิ่มเติมอำนาจคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลให้สามารถกำหนดจำนวน รูปแบบ และวิธีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยความเห็นชอบของ ครม. จากเดิมที่มีอำนาจแค่การกำหนดราคา วิธีการจำหน่าย และการคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเท่านั้นซึ่งจะมีผลทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถออกสลากรูปแบบใหม่ ๆ ตามแบบสากลได้ อาทิ สลากรวมชุดสลาก 2 ตัว 3 ตัวสลากลอตโต้ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์หรือตู้ขายสลากอัตโนมัติได้
และจากการพิจารณาผ่านฉลุยในวาระ1 ทำให้สำนักงานสลากฯตัดสินใจประกาศทำ “หวยชุด” เอง แก้ปัญหาสลากราคาแพง โดย “พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี” ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า ประชุมคณะกรรมการสลากฯ มีมติเห็นชอบให้สำนักงานสลากฯ จัดทำสลากฯ (ลอตเตอรี่) ชุด 2 ใบ ราคา 160 บาท ออกมาจำหน่ายเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งปรับสูตรการพิมพ์ เป็นแบบคละหมายเลขภายในเล่ม โดยเริ่มงวดแรกวันที่ 1 มี.ค. และจะเปิดให้จองวันที่ 5-6 ก.พ. เพื่อแก้ปัญหาการสลากฯ รวมชุดขายเกินราคา หลังพบว่า ระยะหลังมีรวมสลากฯชุดใหญ่ 10 ใบ จนถึง 30 ใบ รวมถึงช่วยลดปัญหาผู้จองซื้อสลากฯ ที่ไม่ใช่ผู้ขายตัวจริง นำไปขายต่อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สลากฯแพง
ทั้งนี้มาตรการใหม่ จะทดลองจำหน่ายให้กับผู้ค้ารายย่อย 1.64 แสนราย ในระบบจอง-ซื้อผ่านตู้เอทีเอ็มและเคทีบีเน็ตแบงก์ของธนาคารกรุงไทย 57 ล้านใบก่อน โดยให้ผู้จองซื้อผ่านธนาคารกรุงไทย จะได้รับสลากฯ คนละ 5 เล่มเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากสลากฯเรียงเลขทั่วไป 5 เล่ม เป็นการได้รับโควตาสลากฯสูตร 2-2-1 คือ ได้รับสลากชุด 2 ใบ แบบคละเลข 2 ชุด ซึ่งเลขทั้ง 2 ชุด จะไม่ซ้ำกัน ซึ่งเท่ากับ 4 เล่ม ส่วนอีก 1 เล่ม เป็นสลากฯ คละเลขแบบธรรมดา
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการจัดทำมาตรการสลากฯแบบใหม่ จะทำให้ผู้ค้ารวมชุดใหญ่ได้ยากมาก และลดปัญหาการขายเกินราคาได้ เพราะเดิมการรวมชุดได้ง่าย เพราะมีการพิมพ์เรียงเลขภายในเล่ม แต่แบบใหม่จะเป็นแบบคละเลข ทำให้โอกาสหาเลขตรงกันไปรวมชุดมีเพียงหนึ่งในแสน ทำให้ต้องใช้เวลาและต้นทุนการรวมสูง ซึ่งถ้านำออกมาขายในราคาแพงผู้ซื้อก็ไม่น่าจะซื้อไหว แต่ขณะเดียวกันสำนักงานสลากฯ ก็จะมีทางเลือกให้ผู้ซื้อลอตเตอรี่ชุดเล็กแบบ 2 ใบ ในราคา 160 บาทได้แทน
สำหรับรายละเอียดการพิมพ์สลากฯ แบบใหม่แบบคละเลข คือ เดิม หมายเลขเล่มซึ่งมี 4 หลัก จะเป็นเลข 4 เลขหน้าของหมายเลขสลากฯ ภายในเล่ม และแตกต่างกันเฉพาะเลข 2 หลักสุดท้าย ซึ่งจะเรียง 00-99 เช่น ระบบเก่า เล่มที่ 0000 หมายเลขในเล่ม จะเรียงตั้งแต่ 000000-000099 หรือ เล่มที่ 9999 หมายเลขในเล่ม จะเรียงตั้งแต่ 999900-999999 แต่ระบบใหม่ สลากฯเล่มจะสลับคละหมายเลขกันตั้งแต่ใบแรกจนถึงใบสุดท้าย เลขจะไม่เกี่ยวข้องกับ 4 ตัวหน้าของเลขสลากฯ เลย ยกเว้นหมายเลข 2 ตัวท้าย ยังเรียงกันเหมือนเดิม เพื่อให้ง่ายต่อการวางขาย เช่น เลขเล่มชุดที่ 0000 ข้างในสลากใบที่ 1 อาจจะเป็น 898600 ใบที่ 2 329501 ใบที่ 3 678402 เรื่อยไปจนถึง 926899 เป็นต้น
“สำนักงานสลากฯ จะทดลองและติดตามผลมาตรการก่อน 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือน พ.ค. เพื่อดูว่าตลาดให้การตอบรับอย่างไร และในระยะต่อไปอาจจะปรับสลากฯ ระบบโควตาถาวรอีก 33 ล้านฉบับ เข้ามาอยู่ในระบบคละหมายเลขด้วย อย่างไรก็ดียอมรับว่าการที่ทำสลากรวมเลขชุดแบบคละเลข อาจทำให้ยอดจำหน่ายสลากฯ ในแต่ละงวดน้อยลงจากปกติที่พิมพ์งวดละ 90 ล้านฉบับ เพราะคนที่จองซื้อไปขายต่อจะขายได้ยากขึ้น และไม่อยากจะจองซื้อ ขณะเดียว กันผู้รับซื้อเพื่อทำไปรวมชุดก็อาจระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่สำนักงานสลากฯต้องการให้เกิดอยู่แล้ว แต่ในทางกลับกันหากเลขชุด 5 ใบ 10 ใบ รวมได้ยากขึ้นมีของในตลาดน้อยลง ก็อาจทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิม เรื่องนี้สำนักงานฯ ก็ขอความร่วมมือประชาชนอย่าไปอุดหนุน”พ.ต.อ.บุญส่ง กล่าว
ขณะที่ด้านพ่อค้า-แม่ค้าสลากฯต่างออกมาวิจารณ์ถึงการที่กองสลากฯจัดทำสลากรวมชุดเองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกที่คัน!
โดย “พ่อค้า-แม่ค้า ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในวัดอารามหลวง จ.พิจิตร” บอกว่า กองสลากถ้าทำหวยชุดเอง คงไปไม่รอดเนื่องจากการออกสลาก ออกเลขไม่ตรงกันไม่สามารถจับเป็นหวยชุดได้ อีกทั้งรัฐบาลให้ขายสลากราคาใบละ 80 คู่ละ 160 บาท ถามว่าจะขายได้อย่างไร เมื่อเราไม่มีโควต้า ต้องไปรับหวยจากยี่ปั๋วในราคา 82 -89-90 บาท แล้วจะมาให้ขาย 80 บาทได้อย่างไร ดังนั้นหากรัฐบาลออกหวยชุดมา เราก็ต้องขายใบละ 100 บาท เหมือนเดิมถึงจะอยู่ได้
เช่นเดียวกับ “เจนศิลป์ เจริญบวรศักดิ์” ประธานหอการค้าพิจิตร กล่าวว่า ตนมองว่าอย่างไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ ตราบใดยังไม่มีการขายเสรี และขายตรงให้กับผู้ค้าจริง ไม่ใช่มีการผ่านระบบโควต้าและนายทุน ทุกวันนี้ผู้ค้าจริงๆ แทบไม่ได้โควต้า คนที่ได้โควต้ากับเป็นนายทุนและยี่ปั๊วรายใหญ่ ซึ่งตนเชื่อว่าผลประโยชน์มันซับซ้อน
และมาตอกย้ำ “ธนากร คมกฤส” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่สำนักงานสลากฯจะออกมาทำสลากฯ ชุดขายเอง โดยที่ผ่านมาในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการทำสลากชุด มูลนิธิก็แสดงความเห็นคัดค้านมาตลอด เพราะเชื่อว่าเมื่อมีการทำรวมชุดแล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมให้คนไทยซื้อหันมาซื้อลอตเตอรี่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมงวดหนึ่งอาจเคยซื้อทีละใบ แต่ต่อไปหากมีสลากฯชุด 2 ใบออกมาขายมากขึ้นและขายในราคา 160 บาท ก็จะทำให้นักเสี่ยงโชคหันมาซื้อเลขชุด 2 ใบ แทนสลากฯแบบใบเดียว
“หน้าที่ของสำนักงานสลากฯ ควรจะรณรงค์ให้ประชาชนลดการเล่นพนัน ลดซื้อลอตเตอรี่ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ ก็บอกมาตลอดผู้ค้ามาตลอดว่า อย่านำไปขายต่อเพื่อทำรวมชุด แต่ที่ไหนได้พอเห็นยี่ปั้วะทำสลากฯ ชุดออกมาขายดีก็เข้าไปทำขายเอง ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง” นายธนากร กล่าว
นอกจากนี้ยังมองว่าการออกสลากฯ ชุด ไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาของสลากฯ แพงได้ เพราะท้ายที่สุดผู้ค้ารายย่อยก็ยังน่าจะนำไปขายต่อและจัดชุดได้อยู่ดี ซึ่งวิธีการแก้ไขอาจจะมีการปรับวิธีการออกรางวัลที่ 1 หรือการขายลอตเตอรี่ผ่านแอปพลิเคชั่นแทน สามารถตัดวงจรยี่ปั้วะรับซื้อมารวมชุดและตั้งราคาสูง ๆ ได้
สุดท้ายการโดดลงมาทำสลากรวมชุดเองของสำนักงานสลากฯจะแก้ไขปัญหาสลากแพงได้หรือไม่!?!
แถมหลายคนสงสัยเป็นการเปิดช่องให้สำนักงานสลากฯสามารถออกสลากรูปแบบอื่นๆได้หรือไม่!?!
จับตากันดีๆ 1 มีนาคม 2562 มีคำตอบแน่นอน!!!