วันที่ 1 ก.พ..62 นายกฤศภณ หล้าวงศา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลหนองคาย และ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนโกมลวิทยาคาร อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว กรณีศาลฎีกาภาค 4 จ.ขอนแก่น อ่านคำพิพากษาว่า กรณีโจทย์ (ร.ต.อ.อุทัย ชาธรรม ในขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ รอง สวป. สภ.ท่าบ่อ, รองประธานฝ่ายกิจกรรมของคณะกรรมการบริการชมรมกีฬาเทนนิส อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย) ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ยกฟ้องแก่ตน กรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษ (รอลงอาญา) เป็นระยะเวลา 2 ปี นายกฤศภณ หล้าวงศา กล่าวว่า สำหรับความเป็นมาของคดีที่ตนถูกฟ้องหมิ่นประมาท นั้น คือตอนนั้น ผมเองเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนโกมลวิทยาคาร อำเภอท่าบ่อ ในเขตเทศบาลเมืองท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่บริเวณโรงเรียนตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย สำหรับกรณีพิพาทเรื่องสนามเทนนิส ระหว่าง โรงเรียนโกมลวิทยาคาร ซึ่งรับผิดชอบโดย ผมเอง และชมรมกีฬาเทนนิส อำเภอท่าบ่อ ซึ่งเดิมนั้น พื้นที่ดังกล่าว หรือสนามเทนนิส เป็นพื้นที่ ที่ทางโรงเรียนได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ โดยมีสิทธิ์ที่จะใช้พื้นที่ได้ตามกฎหมาย เพื่อนำมาใช้ประกอบในการเรียนและการศึกษา ขณะเดียวกันชมรมกีฬาเทนนิส อำเภอท่าบ่อ ก็ได้มาขอใช้พื้นที่ดังกล่าวเช่นเดียวกัน ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ประชุมร่วมกันกับคณะกรรมการ และได้ออกระเบียบในการใช้ร่วมกัน และได้อนุญาตให้ชมรมกีฬาเทนนิส อำเภอท่าบ่อ เข้าใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมาย คือ สามารถใช้เพื่อเล่นกีฬาออกกำลังกายได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. - 21.00 น. แต่การปฏิบัติของชมรมฯ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ทางโรงเรียนออกไว้ ด้วยการเปิดสนามเล่นเกินเวลา นำกุญแจมาล็อคปิดประตูสนามไว้ไม่ให้คนอื่นเข้าไปเล่น นอกจากนี้ยังนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดื่มภายในสนามซึ่งเป็นสถานที่ราชการ (กินไม่เก็บ) ตนจึงได้พูดคุยถึงกฎระเบียบการในการใช้สนามกับทางชมรมฯ ดังนั้น จึงทำให้นายตำรวจคนดังกล่าว ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองสารวัตรป้องกันและปราบปราม (รอง สวป.สภ.ท่าบ่อ) ในฐานะรองประธานฝ่ายกิจกรรมของคณะกรรมการบริหารชมรมเทนนิสอำเภอท่าบ่อ ไม่พอใจ จึงได้เข้ามาใช้วาจาข่มขู่ มีการแสดงอำนาจในลักษณะข่มขู่ ตนจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของนายตำรวจคนดังกล่าว ถึง 2 ครั้ง แต่เรื่องนี้ก็ไม่รับการพิจารณาแต่อย่างใด ต่อมา ตนได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงข้อกังวลใจมายังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 เพื่อร้องเรียนพฤติกรรมของนายตำรวจคนดังกล่าว จากนั้นนายตำรวจคนดังกล่าว ได้ยื่นฟ้องตนในข้อหาหมิ่นประมาท ว่า “ตน” แสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 ซึ่งศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องและพิพากษาว่าตนมีความผิด คือ จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี จากนั้น ตนได้อุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอนแก่น และ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ “ยกฟ้อง” ตามคำฟ้องของโจทก์หรือนายตำรวจคนนั้น กระทั่ง โจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านต่อคำร้องของตนในศาลชั้นอุทธรณ์ และล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ม.ค.62 “ศาลฎีกา” ได้อ่านคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งเห็นว่า “การที่ตน ได้ร้องเรียนนายตำรวจคนดังกล่าว เนื่องจาก “ตน” มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสนามเทนนิสของโรงเรียน อันเนื่องมาจากนายตำรวจคนนั้น ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กติกาของทางโรงเรียนที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สนามเทนนิส มีการร่วมกับพวกนำสุรามาดื่มในสถานที่ราชการ บุกรุกสถานที่ราชการในยามวิกาล และโจทย์มีพฤติการณ์ทำนองข่มขู่จำเลย น่าเชื่อได้ว่าไม่พอใจที่ ตนเคร่งครัดในการใช้สถานที่ราชการให้ถูกระเบียบ ทั้งนี้ ตนได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งพยานบุคคลมายืนยัน ซึ่งไม่เป็นการร้องเรียนโดยเลื่อนลอย อีกทั้งการที่ตนได้ร้องเรียนผู้บังคับบัญชาของนายตำรวจคนดังกล่าว ทั้ง 2 ครั้ง แต่ก็ ไม่ได้รับการตอบสนองหรือยุติเรื่องพิพาท ทั้ง 2 ครั้ง เป็นเหตุให้แสดงว่าผู้บังคับบัญชาของนายตำรวจคนดังกล่าว “เข้าข้างผู้ใต้บังคับบัญชา) หรือเข้าข้างโจทย์ และการที่ตนยื่นเรื่องมายังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหนองคาย ก็เป็นวิสัยปกติธรรมดาของปุถุชนทั่วไป ที่จะต้องแสวงหาความเป็นธรรม ถือได้ว่าเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันตนเองหรือส่วนได้เสียตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) ซึ่งการกระทำของตนนั้น จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และ “ศาลฎีกา” ได้มีการพิจารณา “ยกฟ้อง” ตามที่โจทก์ร้องยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย หรือ พิพากษายืนตามคำพิพากษายกฟ้องของศาลอุทธรณ์ภาค 4 นั่นเอง ในลำดับต่อไปนั้นทางตน ก็จะได้ให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายดูแลรักษาสิทธิ์ตรงนี้ไว้ เพราะตนในฐานะที่เป็นครูและนักบริหารการศึกษา เราทำหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยความตั้งใจ คือ เราอยากจะดูแลพื้นที่ของสถานศึกษา ให้มีความเป็นระเบียบทุกคนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ และไม่ให้ใครเข้ามาใช้สถานที่แห่งนี้เป็นการส่วนตัว ซึ่งตนก็ได้ต่อสู้เพื่อพี่น้องชาวอำเภอท่าบ่อมาโดยตลอด คือทุกคนต้องได้ใช้สนามเทนนิสแห่งนี้ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่เมื่อแนวปฏิบัติมีขั้นถึงการขึ้นโรงขึ้นศาล ตนก็จะต้องมีการรักษาสิทธิ์ของตนเช่นเดียวกัน เพื่อตำแหน่งและศักดิ์ศรีของข้าราชการและการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างและเป็นบรรทัดฐานของกฎหมายที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติ แต่ถ้า “ตน” ไม่ใช้กฎหมายตัวนี้ ก็จะถือว่าตนนั้น “ละเว้นการปฏิบัติเช่นเดียวกัน”