รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล
กระแสศิลปะ-ดนตรีแบบ Exoticism เริ่มขึ้นในตะวันตกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ผ่านการติดต่อกับโลกตะวันออกผ่านการค้าข้ามชาติ
คำว่า Exotic แปลตรงตัวว่า “มาจากที่อื่น” และคำว่า “ที่อื่น” ก็แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ “ที่นี่” ซึ่งก็คือโลกตะวันตกนั่นเอง
ความหมายของ Exoticism จึงมีลักษณะเป็นคู่ตรงข้ามกับมาตรฐานสังคมตะวันตก (ในขณะนั้น) ดังที่ Ralph P. Locke อธิบายไว้ใน Musical Exoticism: Images and Reflections (Cambridge University Press 2009) ว่าการนำเสนอคู่ตรงข้ามเหล่านี้ มีประเด็นหลักๆ อยู่ 5 เรื่อง คือ
1) อดีตกับปัจจุบัน (Then and Now) นั่นคือ ความ Exotic อาจหมายถึงความเก่า หมายถึงอดีตกาลอันไกลโพ้นที่เราไม่มีโอกาสได้เห็น ดังที่โอเปร่าเรื่องสำคัญในแนวนี้หลายเรื่องก็มักเป็นเรื่องไกลโพ้นในอดีตกาล หรือนิทานปรัมปราไปเลย
2) เรากับคนอื่น (Self and Other) ซึ่งเป็นประเด็นว่าด้วยเรื่อง “ความไม่รู้จัก” และเพราะไม่รู้จัก และไม่เข้าใจ สิ่งเหล่านั้นจึงแปลกและน่าสนใจ
3) ความใกล้กับความไกล (Nearness and Distance) แน่นอนว่าดินแดนห่างไกลย่อมหมายถึงความแปลกประหลาดที่น่าสนใจ แต่ประเด็นนี้ยังครอบคลุมกว้างขวางกว่าเรื่องของระยะทาง เพราะหลายครั้ง ที่ความ Exotic เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ๆ เรานั้นเอง เพียงแต่เป็นความใกล้ที่แปลกประหลาดและไม่คุ้นชิน
เช่น การที่ปัญญาชนชาวปารีสอย่างรุสโซเขียนถึงคนในชนบทฝรั่งเศสด้วยความยกย่อง ว่ามีน้ำใจ ไม่ปลิ้นปล้อนตลบแตลง ก็ย่อมหมายถึงความ Exotic อย่างหนึ่ง
(หรือในทางกลับกัน ความป่าเถื่อนของคนบ้านนอกก็ย่อมเป็นความ Exotic สำหรับคนเมืองหลวงด้วยเช่นกัน)
4) เรื่องจริงกับเรื่องแต่ง (the Real and the Fictive) ความไม่จริง ความเป็นเรื่องแต่ง เป็นนิทานหรือเทพนิยาย ย่อมหมายถึงความ Exotic ดังกรณีเรื่อง 1001 ราตรีที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง
5) ดนตรีและการกำกับอย่างอื่น (Music and Extramusical Signs) นอกจากดนตรีแล้ว ส่วนที่ไม่ใช่ดนตรี เช่นเนื้อเรื่อง เนื้อร้อง ภาษา บทสนทนา ชื่อตัวละคร ล้วนสามารถแสดงความเป็น Exotic ให้แก่ชิ้นงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน
ในช่วงต้นของหนังสือเล่มนี้ Ralph P. Locke อธิบายถึงงานดนตรีจำนวนมากในยุคบาโรค (ราวหลัง ค.ศ. 1600) ว่ามักถูกนักวิชาการส่วนมาก “ละเลย” ไม่กล่าวถึงว่าเป็นดนตรีแบบ Exotic ด้วยเหตุผลที่ว่า บทเพลงเกือบทั้งหมด “ไม่มีการใช้ท่วงทำนองที่เป็นของต่างชาติ” และยังมีลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากดนตรีตะวันตกทั่วไปในขณะนั้นแม้แต่น้อย
แม้ว่ารูปแบบเพลงบางประเภท จะมีหลักฐานชี้ชัดว่ามีที่มาจากต่างชาติ เช่นเพลงเต้นรำประเภท Sarabande ที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่อเมริกาใต้ และไปได้รับความนิยมในอิตาลีและฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17
แต่เพลงเต้นรำเหล่านี้ก็หาได้มีบุคลิกท่วงทำนองที่เกี่ยวพันกับอเมริกาใต้อย่างใดไม่ และยังคงรูปแบบความเป็น Sarabande อยู่ด้วยก็แต่สิ่งเดียว คือมีสามจังหวะในหนึ่งห้องเท่านั้น
เช่นเดียวกับโอเปร่าหลายเรื่องของนักแต่งเพลงฝรั่งเศสคนสำคัญ คือลุลลี (Jean Baptist Lully) ที่ไม่มีท่วงทำนองแสดงความเป็นตะวันออกหรือประเทศ Exotic อื่นใดเลย เพียงแต่มีเนื้อเรื่องที่แปลกประหลาดออกไปเท่านั้น
Ralph P. Locke ไม่เห็นด้วยกับการละเลยงานดนตรีเหล่านี้ และกล่าวว่า งานเหล่านี้ทั้งหมดควรจัดอยู่ในกระแสดนตรี Exotic ในช่วงเริ่มต้นด้วย
เพราะเนื้อเรื่องโอเปร่าเหล่านี้ล้วนสะท้อนประเด็นความเป็น Exotic ในสายตาของชาวยุโรปไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่มักถูกใช้เป็นเนื้อเรื่องอยู่บ่อยครั้งก็คือ เรื่องของทรราชย์ชาวตะวันออก และความป่าเถื่อนของคนเหล่านี้
ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ด้อยกว่า ต่ำกว่า อารยธรรมของคนขาวในขณะนั้นอย่างเทียบกันไม่ได้
ประเด็นสำคัญที่ Ralph P. Locke พูดถึงตรงนี้ก็คือ ความเป็น Exotic ในดนตรีนั้น หาได้เกิดจาก “เสียงดนตรี” แต่เพียงอย่างเดียวไม่
และบ่อยครั้งยังเกิดขึ้นจากบริบทแวดล้อมอื่นๆ ทั้งเนื้อเรื่อง เนื้อร้อง บทสนทนา ฉาก และการแต่งกายของตัวละคร ฯลฯ
ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ฉากการเดินทางของโกษาปานไปยังปารีสใน พ.ศ. 2229 จะเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความ Exotic สักเพียงใด
ในเมื่อทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องจริง มีคนตะวันออกตัวจริงมาเป็นพยานอยู่ตรงหน้า
จนถึงขนาดมีการรายงานข่าวเรื่องนี้กันอย่างครึกโครมทั่วปารีส มีการผลิตภาพพิมพ์โกษาปานและคณะทูตออกจำหน่ายเป็นจำนวนมาก
และมีผู้สื่อข่าวคอยติดตามการเคลื่อนไหวของท่านราชทูตอย่างละเอียดทุกวันเวลา
ดังนั้นเอง เพลง 2 เพลงที่นายมิเชล-ริชาร์ด เดอ ลาลองด์ (Michel-Richard de Lalande) นักดนตรีแห่งราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ 14 แต่งขึ้นเพื่อต้อนรับโกษาปาน จึงมีความ Exotic ไปโดยปริยาย
ถึงแม้ว่าในส่วนของดนตรีแทบจะไม่ต่างไปจากเพลงตะวันตกเพลงอื่นๆ เลยก็ตาม