จังหวัดหนองคาย บูรณาการร่วมกับ กรมกิจการชายแดนทหาร ปปส.ภ.4 กกล.สุรศักดิ์มนตรี ภ.จว.หนองคาย และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ประชุมชี้แจงสถานประกอบการขนส่ง โลจิสติกส์ (Logistics) ไทย-ลาว และตรวจค้นสถานประกอบการขนส่ง
เมื่อวันที่ 9 ก.ค.68 ที่ห้องประชุมสำนักงานศุลกากรจังหวัดหนองคาย สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อ.เมือง จ.หนองคาย นายไพฑรูย์ มหาชื่นใจ รอง ผวจ.หนองคาย เป็นประธานเปิดการประชุม ชี้แจงสถานประกอบการขนส่ง โลจิสติกส์ (Logistics) ไทย-ลาว และตรวจค้นสถานประกอบการขนส่งพื้นที่ชายแดนด้านจังหวัดหนองคาย โดยมี พล.ต.ยุทธภูมิ บุญฤทธิ์ รอง จก.ชด.ทหาร,นายคณิศร ภาพีรนนท์ ผอ.ปปส.ภ.พ.อ.จักรพงษ์ โพนาแค รอง ผบ.กกล.สุรศักดิ์มนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
การประชุมครั้งนี้ ด้วย ปปส.ภ. 4 ในพื้นที่ชายแดน ด้านจังหวัดหนองคาย เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุและไปรษณีย์ในพื้นที่และผู้ประกอบการขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics) คู่ค้าไทย-ลาว รวมทั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดตามชายแดนลาว-ไทย ในเรื่องการกำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ในสถานประกอบการประเภท สถานที่หรือที่เก็บสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งใช้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และคำสั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ 2/2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ดังนี้ อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านควบคุมยาเสพติด ณ กรุงเวียงจันทน์ ,ภ.จว.หนองคาย ,ตำรวจภูธรภาค 4, ศุลกากรจังหวัดหนองคาย ,สภ.ชายแดน 12 สถานี ,ศป.ปส.อ.ชายแดน 6 อำเภอ,นบ.ยส. 24 , กรม ทพ.21 ,ร้อย ตชด.245 , กกล.สุรศักดิ์มนตรี ,หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง,นตรวจคนเข้าเมืองหนองคายผู้แทนบริษัทไปรษณีย์ ผู้แทน ผู้แทนสถานประกอบการขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ในพื้นที่ 15 แห่ง ผู้แทนสถานประกอบการขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ที่เป็นบริษัทคู่ค้าไทย-ลาว 5 แห่ง
สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งแถลงนโยบาย ต่อสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ 8 “รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านการสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหา ผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพการศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้กลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม”
ตามประประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ ได้กำหนดสถานที่ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ 7 ประเภท เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ 7 ประเภท ได้แก่ 1. สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงและให้รวมถึง สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการต่างๆซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลหรืออาศัยสิทธิของเจ้าของ หรือผู้ดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย 2. สถานีบริการที่บรรจุก๊าซให้แก่ยานพาหนะทั้งทางบกและทางน้ำตามกฎกระทรวง ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว 3. สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ 4. ที่พักอาศัยในเชิงพาณิชย์ประเภทหอพักอาคารชุดหรือเกสเฮ้าส์ (Guest house)ที่ให้ผู้อื่นเช่า 5. สถานที่ที่ได้จัดให้มีการเล่นบิลเลียด สนุกเกอร์ ซึ่งเก็บค่าบริการจากผู้เล่น 6. โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 7. สถานที่หรือที่เก็บสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งใช้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์
นายคณิศร ภาพีรนนท์ ผอ.ปปส.ภ.4 กล่าวว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ลักลอบนำเข้าและลำเลียงยาเสพติดที่สำคัญ เพื่อนำไปกระจายในพื้นที่ตอนในของประเทศ ซึ่งในการลักลอบนำและลำเลียงยาเสพติดมีทั้งทางน้ำ ทางอากาศ และทางบก โดยปัจจุบันในพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนมและจังหวัดมุกดาหาร ในบางจังหวัดพบการลำเลียงยาเสพติดผ่านสถานประกอบการขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ หรือขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics) เพิ่มมากขึ้น พบว่ามีผู้เกี่ยวข้องทั้งคนไทยและสปป.ลาว ประกอบกับผู้ประกอบการขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ขาดความรู้ ความเข้าใจในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าและลำเลียงยาเสพติดผ่านสถานประกอบการขนส่งพัสดุและไปรษณียภัณฑ์ หรือขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics) ในพื้นที่ชายแดนเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ปปส.ภ.4 ได้จัดประชุมชี้แจงสถานประกอบการขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics) ไทย-ลาว และตรวจค้นสถานประกอบการขนส่งในพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนขึ้น เพื่อสร้างความรู้และเข้าใจให้กับผู้ประกอบการประเภทขนส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์หรือขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics) ทั้งไทยและสปป.ลาว และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดน 5 จังหวัดชายแดนดังกล่าว เพื่อป้องกัน ปราบปรามและสกัดกั้นการลักลอบนำเข้า ลำเลียงยาเสพติด ผ่านสถานประกอบการประเภทขนส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์หรือขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics )ทั้งไทยและสปป.ลาว และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
หลังการประชุมได้ออก ปฏิบัติการตรวจค้นสถานประกอบการขนส่งในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และตรวจสถานประกอบการบริษัทคู่ค้าไทย-ลาว ไม่พบ สิ่งผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด โดย ศุลกากรจังหวัดหนองคาย และ ภ.จว.หนองคาย นำตรวจ ซึ่งไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ปปส.ภ. 4 ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้นในการตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มียาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายเล็ดลอดไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป