จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลังผนึกความร่วมมือทางวิชาการครั้งสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรสหวิทยาการระดับปริญญาโทด้านการจัดการภาษี หลักสูตรแรกของประเทศไทย เพื่อยกระดับการศึกษาหลักสูตรสหสาขาวิชา พัฒนาบุคลากรคุณภาพของประเทศเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านการจัดการภาษีที่มีประสิทธิภาพ

            งานแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี (หลักสูตร       สหสาขาวิชา) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลัง จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน นายลวรณ แสงสนิท                  ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความร่วมมือของกระทรวงการคลังในการเปิดหลักสูตรดังกล่าว รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวรายงานความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในการเปิดหลักสูตรครั้งนี้

            ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลัง เป็นการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและนโยบายของภาครัฐเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นหลักสูตรสหสาขาวิชาด้านการจัดการภาษีหลักสูตรแรกของประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนระบบภาษีของประเทศให้ทันสมัย โปร่งใส และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในยุคดิจิทัล หลักสูตรนี้จะเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างความรู้ทางวิชาการกับการปฏิบัติจริง และเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมด้านการจัดการภาษีที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต

            “หลักสูตรนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน การสร้างความก้าวหน้าขององค์ความรู้ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งบ่มเพาะปัญญาให้แก่ประชากรทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “Chula Togetherness - จุฬาฯ เติบโตรอบทิศ มีนิสิตเป็นศูนย์กลาง” จุฬาฯ มุ่งมั่นออกแบบหลักสูตรที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมนิสิตให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ ทั้งในด้านวิชาการและคุณค่าทางสังคม    อย่างแท้จริง” ศ.ดร.วิเลิศกล่าว

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งสององค์กรที่สืบเนื่องจากการลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ เมื่อวันที่ 18 ก.ย .2566 ที่ก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม คือหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการภาษี (หลักสูตรสหสาขาวิชา) ที่มีเป้าหมายในการสร้างบุคลากร ทั้งในกลุ่มของข้าราชการกระทรวงการคลังและบุคลากรทั่วไป  ให้เป็นผู้มีทักษะในการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการภาษี โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรมทางภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างผลงานการศึกษาในสาชาวิชาการบริหารจัดการภาษีได้อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน มหาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะเป็นบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านภาษีและบริบทที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ซึ่งไม่ว่าจะปฏิบัติงานอยู่ในภาครัฐหรือภาศเอกชน จะถือเป็นกลุ่มบุคคคุณภาพที่จะต่อยอดส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรได้อย่างถูกต้อง

            รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบการจัดการภาษีของประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวและก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมเพื่อรองรับความท้าทายในมิติใหม่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี (หลักสูตรสหสาขาวิชา) เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลัง ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันซึ่งได้ลงนาม เมื่อวันที่       18 กันยายน 2566 เพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาขององค์กรให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งศาสตร์ด้านการจัดการภาษี กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การบัญชี วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

            รศ.ดร.ธิติ กล่าวถึงความโดดเด่นของหลักสูตรนี้ว่าเป็นหลักสูตรสหสาขาวิชาที่มีการผสานความร่วมมือจาก 5 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชานี้จะทำให้ผู้เรียนได้รับองค์ความรู้ มุมมองที่หลากหลายและครอบคลุม สามารถประยุกต์ใช้ความรู้   ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลักสูตรได้รับการออกแบบให้มีแผนการเรียน 2 แผน คือ แผน 1 แบบวิชาการ (ศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์) มุ่งเน้นการสร้างผู้นำทางวิชาการด้านการจัดการภาษี ผู้ที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบภาษี  ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับยุคดิจิทัล และแผน 2 แบบวิชาชีพ (ศึกษารายวิชาและรายวิชาค้นคว้าอิสระ) มุ่งเน้นการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติ สามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงเพื่อยกระดับการจัดการภาษีให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีจำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต กำหนดเปิดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2568 ในรูปแบบภาคนอกเวลาราชการ โดยจัดการเรียนการสอนวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยรูปแบบการเรียนแบบผสมผสานที่ให้ความยืดหยุ่นสูงสุดแก่ผู้เรียน สำหรับผู้ที่สนใจจะสมัครเข้าศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี (หลักสูตรสหสาขาวิชา) สามารถติดตามดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ทาง www.grad.chula.ac.th