วันที่ 7 ก.ค. 68 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย และ นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ​ ศบ.ทก.​ ประจำวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม​ 2568 

 

พล.ร.ต.สุ​ร​สันต์​ กล่าวว่า​ การรายงานผลการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ หรือ​ สมช.ครั้งที่ผ่านมา 4 กรกฎาคม 2568 ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งที่ 6 โดยยืนยันว่า​ ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ มีมติมอบอำนาจให้ทางศบ.ทก.ดำเนินการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดตามแนวชายแดนให้คลี่คลายลงโดยศบ.ทก.มีอำนาจเต็มในเรื่องของการกำหนดมาตรการ ไม่ว่ารวมไปถึงการเพิ่มมาตรการทางสถานการณ์เลวร้าย หรือผ่อนคลายมาตรการทางสถานการณ์ดีขึ้น โดยเน้นย้ำในเรื่องของการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหาร

ขณะเดียวกันที่ประชุมสมช. ยังมีการกล่าวถึง การแก้ไขอาชญากรรมข้ามชาติให้มีมาตรการกดดันที่เข้มงวดและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง​ ซึ่งทางศบ.ทก.มีขอบเขตหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนในลักษณะเฉพาะกิจ โดยในมิติของงานปกติยังคงเป็นการทำงานของหน่วยงานตามสายงานปกติ

 

พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า มาตรการการผ่านแดน หรือจุดผ่านเข้าออก ของประชาชนทั้งสองฝ่ายที่ได้รับอนุญาตทั้งในกลุ่มประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ ท้องถิ่นที่สามารถเดินทางผ่านเข้าออกเพื่อจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค หรือแม้กระทั่งกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย​ ยังคงอนุญาตให้ดำเนินการผ่านเข้าออกได้เช่นกัน เช่นเดียวกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา เราคำนึงถึงความเสียหายหากทางนักเรียนไม่สามารถมาศึกษาในสถาบันของตัวเองได้ พร้อมกับการขนส่งเวชภัณฑ์​ และผู้ป่วยที่ต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาล ที่ต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม 

 

โดยตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีตัวเลข ผ่อนปรนมาตรการผ่านเข้าออกโดยกลุ่มที่สามารถเดินทางเข้ามาอย่างฝั่งกองกำลังบูรพา​ มีบุคคลเข้าราชอาณาจักร​ 212,766 คน กลุ่มประชาชนเดินทางออกจากราชอาณาจักร 206,100 คน ฝั่งกองกำลังสุรนารีมีการเข้าออก 2,454 คน

 

ส่วนกรณีที่ทางศบ.ทก.พยายามจะมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ยืนยันว่า​ ศบ.ทก.​ไม่ได้นิ่งนอนใจ​ มีการประชุมหารือแนวทางในการผ่อนปรน โดยบูรณาการหารือกับผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย โดยได้มีการรายงานความคืบหน้าที่ผ่านมา 4 กรกฎาคม​ ​กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน​  จัดการประชุมบริหารจัดการของคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยพิจารณาการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นกับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามมาตรา 64 โดยกระทรวงมหาดไทยจะพิจารณาผ่อนผันแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตแต่หมดอายุและอยู่ในประเทศไทยอยู่ต่อได้เป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆจนกว่าด่านชายแดนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และภายหลังที่ดังเปิดเป็นปกติให้คนต่างด้าวเหล่านั้นเดินทางออกนอกราชอาณาจักรภายใน 14 วัน ขณะที่กระทรวงแรงงานจะออกมาตรการให้คนต่างด้าวสามารถยื่นคำขออนุญาตทำงานพร้อมเอกสารและหลักฐานการทำงานต่อในทะเบียนอนุญาต​ โดยสามารถทำงานได้ครั้งละ 90 วันและต้องต่อใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันคนต่างด้าวที่มีงานทำอยู่แล้วสามารถเปลี่ยนนายจ้างและเพิ่มนายจ้างได้ 3 รายตลอดระยะเวลาในพื้นที่จังหวัดที่คนต่างด้าวนั้นได้รับอนุญาตทำงาน

 

โดยจากผลการประชุมของคณะทำงานที่ผ่านมา​ กรมการจัดหางานจะนำผลการประชุมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในวันที่ 8 กรกฎาคม​ หรือวันพรุ่งนี้​ ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป โดยหากมีการประกาศของครม.จะมีผลย้อนหลังให้ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2568

 

ขณะที่​ นางมาระตี​ กล่าวถึงมิติการต่างประเทศ​ ว่า​ กลไกภายในกระทรวงการต่างประเทศ ในการบริหารสถานการณ์ขณะนี้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความตึงเครียดของสถานการณ์ไทยกัมพูชาได้ดำเนินการประสานงานด้านต่างๆในมิติการต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จัดตั้งคณะทำงานระดับกระทรวง เพื่อติดตามสถานการณ์และประสานงานสนับสนุนการบูรณาการภายในกระทรวง และกรมที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเผยแพร่ข้อมูลระหว่างกระทรวงกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศทั่วโลก 

 

นางมาระตี​ ยังกล่าวอีกว่า​ ตามที่ปรากฏรายงานข่าวในสังคมออนไลน์เมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา เกี่ยวกับหนังสือของเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชาประจำสหประชาชาติ​ ณ​ นครนิวยอร์ก​ ถึงเลขาธิการสหประชาชาติลงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 แจ้งความประสงค์ของกัมพูชาที่จะฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ​ หรือ ICJ ทำกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการไปที่เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ​ ณ​ นครนิวยอร์ก ให้มีหนังสือเช่นกันถึงเลขาธิการสหประชาชาติแล้ว​ เพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริง​ ตลอดจนท่าทีและการดำเนินการของฝั่งไทย​ ในเรื่องนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมและฝ่ายไทยได้ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติเวียนหนังสือชี้แจงของไทยเป็นเอกสารของสำนักงานสหประชาชาติเพื่อให้สมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศได้รับทราบเช่นกัน ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจและชี้แจงจุดเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

และเมื่อวันที่ 6 ก.ค. กระทรวงการต่างประเทศได้ออกข่าวสารนิเทศอีก 1 ฉบับเพื่อชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีของไทยและข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ของการทำความเข้าใจที่ถูกต้องโดยเฉพาะในพื้นที่สื่อในขณะนี้มีการนำเสนอข้อมูลจำนวนมากจากหลายแหล่งซึ่งบางส่วนอาจไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงได้มีการชี้แจงในการดำเนินการของฝ่ายไทย​ ตั้งแต่เกิดเหตุปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา​ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.และจุดยืนของรัฐบาลไทย คือการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาด้วยสันติวิธีภายใต้พันธกรณี 2543 ที่ทั้งสองฝ่ายต้องแก้ไขปัญหาเขตแดนผ่านการเจรจาภายใต้กลไก​ JBC