วิกฤตบุหรี่เถื่อน เมื่อนโยบายผิดพลาด เปิดช่องตลาดมืด
นโยบายการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นของรัฐบาล โดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพและการป้องกันเยาวชน แม้จะได้ใจประชาชนอยู่บ้าง แต่ก็กำลังสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่า นั่นคือการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการค้าบุหรี่เถื่อน ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายมหาศาลต่อรายได้ภาษีของรัฐ แต่ยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศ
เพราะการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าคือการผลักดันให้ผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการนิโคติน หันกลับไปหา "บุหรี่มวน" แต่ไม่ใช่บุหรี่มวนที่ถูกกฎหมาย หากแต่เป็น "บุหรี่เถื่อนราคาถูก" ที่หาซื้อได้ง่ายขึ้นอย่างน่าตกใจ แถมยังมีกลิ่นและรสชาติที่ตรงใจผู้สูบบุหรี่มากกว่า
ข้อมูลการสำรวจซองบุหรี่เปล่าประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ที่เปิดเผยโดยสมาคมการค้ายาสูบไทยชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนการบริโภคบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นเป็น 28.1% เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าเมื่อไตรมาส 3 ปี 2567 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 25.4% โดย สตูล สงขลา พัทลุง ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ยังคงครองแชมป์จังหวัดที่มีการบริโภคบุหรี่เถื่อนสูงสุดในประเทศ
การแพร่ระบาดของบุหรี่เถื่อนส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากบุหรี่เหล่านี้ไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีมหาศาลมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ควรนำมาพัฒนาประเทศและดูแลสุขภาวะของประชาชน นอกจากนี้ บุหรี่เถื่อนมักไม่มีการควบคุมคุณภาพการผลิต ทำให้มีสารพิษเจือปนในปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายหลายเท่า ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้สูบและผู้ใกล้ชิดในระยะยาว ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต
สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ การค้าบุหรี่เถื่อนในปัจจุบันได้ย้ายฐานมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันซื้อขายสินค้าทั่วไป ผู้ค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านจริง และหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ได้ค่อนข้างสะดวก รูปแบบการซื้อขายที่หลากหลายและราคาที่ถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมาย บวกกับการเติบโตของแพลตฟอร์มผู้ให้บริการรับ-ส่งสินค้า ที่เข้ามาเสริมเรื่องความสะดวกสบายในการส่งของให้ถึงหน้าบ้าน ทำให้บุหรี่เถื่อนแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่เข้าถึงช่องทางออนไลน์เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย
เป็นที่น่าตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า แต่กลับดูเหมือนจะละเลยและมองข้ามปัญหาการค้าบุหรี่เถื่อนที่กำลังเติบโตอย่างน่าเป็นห่วง และเช่นเดียวกันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ที่มีหน้าที่ดูแลและปิดกั้นเนื้อหาผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์ ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีมาตรการที่เด็ดขาดและเป็นรูปธรรมในการจัดการกับเว็บไซต์และบัญชีโซเชียลมีเดียที่ลักลอบค้าบุหรี่เถื่อนเหล่านี้
การเพิกเฉยต่อปัญหานี้เท่ากับการปล่อยให้ตลาดมืดเติบโตอย่างเสรี และเป็นการบั่นทอนความพยายามในการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศ
สถานการณ์เช่นนี้ไม่สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้อีกต่อไป จึงถึงเวลาแล้วที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้กุมบังเหียนการดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ และยังคงได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเพื่อสานงานภายในกระทรวงอย่างต่อเนื่อง จะต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด ด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์และบัญชีโซเชียลมีเดียที่ใช้ในการค้าบุหรี่เถื่อนอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ทำงานร่วมกับบริษัทโซเชียลมีเดียและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้มีการจัดการกับบัญชีและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการค้าบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจัง รวมถึงชี้แจงถึงมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว และรายงานผลความคืบหน้าในการปราบปรามบุหรี่เถื่อนออนไลน์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา
การแก้ไขปัญหาบุหรี่เถื่อนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม ไม่ใช่เพียงแค่การปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น เพราะหากละเลยปัญหานี้ต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด และจะกลายเป็นวิกฤตสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่ยากจะแก้ไข