วันที่ 7 ก.ค.68  ที่รัฐสภา ว่าที่ ร.ต.อาพัทธ์  สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะเสนอชื่อแคนดิเดตเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี โดยยึดจำนวนเสียงของ สส. ตามที่เคยได้เลือกตั้งมาในครั้งแรกนั้น  โดยยืนยันว่าไม่ได้ ต้องใช้เสียงสส.ปัจจุบัน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการเสนอชื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 159  ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตาม มาตรา 88  เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น สส.ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้บุคคลที่สามารถได้รับการเสนอชื่อ จะต้องเป็นบุคคลที่มีรายชื่อในบัญชีที่เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง โดยพรรคที่สามารถเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯได้ จะต้องมี ส.ส.  ร้อยละ 5 ของ ส.ส. 500 คน คือมี ส.ส. 25 คน ตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันมีสส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 494  คน โดย ร้อยละ 5   คือ 24.70

ทั้งนี้ในปัจจุบันพรรคพลังประชารัฐมี สส. จำนวนทั้งสิ้น19 คน จาก 20 คน  เนื่องจากเป็น สส.งูเห่า  พรรคกล้าธรรม 1 คน  จึงไม่สามารถเสนอบุคคลในบัญชีรายชื่อคือ พล.อ.ประวิตร  เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ ตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี