อีกหนึ่งโรคที่รุนแรงได้หากปล่อยให้เรื้อรัง “โรคกระดูกอักเสบ” นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีการการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ เผย เป็นโรคที่เกิดจากกระดูกติดเชื้อโรค โดยทั่วไปมักเป็นจากเชื้อแบคทีเรีย แต่อาจพบจากติดเชื้อราได้ โรคนี้เกิดได้กับกระดูกทุกชิ้นส่วนของร่างกาย แต่ที่พบบ่อยคือ กระดูกขา เท้า และกระดูกสันหลัง โดยทั่วไปมักพบกระดูกอักเสบเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็อาจพบหลายตำแหน่งพร้อมกันได้ อีกทั้งพบได้ในทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงสูงอายุ มีโอกาสเกิดได้เท่ากันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย สาเหตุเกิดได้ 3 ทาง คือ ติดเชื้อจากกระแสเลือด เนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียงกระดูกที่อักเสบติดเชื้อ และติดเชื้อจากเนื้อเยื่อกระดูกขาดเลือดจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี อาการที่พบบ่อยคือ จะมีไข้หนาวสั่น ปวดบวมตามกระดูกที่อักเสบ เคลื่อนไหวกระดูกส่วนที่อักเสบได้น้อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ในรายที่กระดูกอักเสบเรื้อรังมักมีแผลและหนองไหล ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงกับกระดูกอักเสบเจ็บ โต คลำพบก้อน นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผอ.รพ.เลิดสินเสริมว่า ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ อาทิ เกิดอุบัติเหตุหรือผ่าตัดกระดูกหรือข้อในเวลา 1 - 3 เดือนก่อนเกิดกระดูกอักเสบ ป่วยด้วยโรคที่ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด เป็นต้น แพทย์จะวินิจฉัยโรคได้จากประวัติการเจ็บป่วย ตรวจร่างกายในตำแหน่งกระดูกที่มีอาการโดยเอกซเรย์ เพาะเชื้อจากหนอง และอาจตัดชิ้นเนื้อกระดูกชิ้นที่มีอาการเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา นำมาวินิจฉัยให้ได้ผลแน่นอนที่สุด สำหรับการรักษา มี 2 วิธีหลัก ได้แก่ ให้ยาฆ่าเชื้อที่มีคุณสมบัติตรงกับเชื้อที่ตรวจพบ โดยให้ยาทางหลอดเลือดดำและรับประทานยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย ซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจแพทย์ และการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเพื่อปลูกกระดูกใหม่ ตัดขาหากเกิดกระดูกขาอักเสบรุนแรงมากและเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ รักษาความสะอาดร่างกายและสิ่งของเครื่องใช้อยู่เสมอ คอยระวังอย่าให้มีดบาดหรือเกิดอุบัติเหตุจนมีแผล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงเกิดโรคกระดูกอักเสบ ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการข้างต้นหรือไม่แน่ใจในอาการ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาต่อไป