ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
มีปราชญ์เปรียบสังคมเหมือนต้นไม้ ที่แข็งแรง เติบโต และอยู่รอดได้ ก็ด้วยราก ต้น และกิ่งใบ ที่คงอยู่ไปด้วยกัน ซึ่งสำหรับสังคมไทยนั้น “พระมหากษัตริย์” คือ “รากแก้ว” ที่ก่อร่างสร้างสังคมไทยนี้ขึ้น
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถูกมองจากคนบางกลุ่มว่าเป็นพวก “กษัตริย์นิยม” จนถึง “คลั่งกษัตริย์” ซึ่งท่านเคยบอกกับลูกศิษย์ลูกหาและคนใกล้ชิดว่า ท่านไม่ได้เป็นคนอย่างนั้น แต่ท่านเป็นเหมือนกับคนไทยทั่วไป ที่รักและเทิดทูนบูชาพระมหากษัตริย์เหนืออื่นใด ไม่เพียงเพราะพระองค์ท่านมีสถานะที่สูงส่ง แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปกแผ่แก่คนไทยและสังคมไทย ให้สงบสุขร่มเย็นสืบมา ที่สำคัญคือทรงเป็น “ขวัญและกำลังใจ” ของคนไทยทั้งชาติ ที่ทำให้ชาติไทยดำรงคงอยู่และจำเริญรุ่งเรืองเสมอมา
เพราะพระมหากษัตริย์กับคนไทยนั้นคือ “เลือดเนื้ออันหนึ่งอันเดียวกัน” มาตั้งแต่โบราณกาล
ตอนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน เป็นช่วงเวลาที่คนไทยกำลังเศร้าโศกในการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งนี้ท่านได้กล่าวถึงเหตุผลหนึ่งในการเขียนวนิยายเรื่องนี้ ในคราวที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการอภิปรายทางวิชาการเพื่อเชิดชูเกียรติขอท่าน ในปีที่ท่านได้รับรางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวรรณกรรม ในปี 2528 นั้นว่า ท่านก็เหมือนกับคนไทยทั่วประเทศ ที่มีความรักต่อพระเจ้าอยู่หัวอย่างสุดซึ้ง นวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินจึงเขียนขึ้นด้วย “ความรักอย่างสุดซึ้ง” ต่อพระมหากษัตริย์นั่นเอง
ต่อมาได้มีนักวิจารณ์วรรณกรรมได้กล่าวถึงนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินนี้ว่า เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นด้วย “ความถวิลหวัง” ของคนไทย ซึ่งมีความหมายว่า “ความรัก ความผูกพัน และความคาดหวัง” โดยอธิบายว่าที่คนไทยมีความรู้สึกเช่นนี้ก็ด้วยความผูกพันที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้งเพราะทรงมีความใกล้ชิดกับราษฎรอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ความเป็น “เทวราช” ในรูปแบบโบราณ ที่พระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นเทวดา อยู่บนฟ้าบนสวรรค์ มาเป็น “ประชาราช” คือพระราชาที่อยู่เคียงข้างประชาชน ที่คนไทยเข้าถึงและสัมผัสพระองค์ได้ ซึ่งเรื่องสี่แผ่นดินก็ได้ฉายภาพบรรยากาศและความรู้สึกแบบนั้น ผ่านตัวละครต่าง ๆ โดยเฉพาะ “แม่พลอย” โดยผู้เขียนคือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นก็มีความสามารถเป็นเลิศ ที่ได้พรรณนาผ่านตัวอักษรที่มีชีวิต มีพลัง โดยสามารถ “กระชากหัวใจ” ของผู้อ่านออกมาได้ทั้งหมด เหมือนว่าได้ไปเกิดร่วมถิ่น ร่วมสมัย และร่วมเหตุการณ์ กับแม่พลอยกระนั้น
คำว่า “ความถวิลหวัง” นี้ ผู้เขียนได้ไปสอบถามท่านผู้รู้ทางภาษาศาสตร์ ท่านบอกว่าน่าจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Nostalgia” แปลว่า “ความรู้สึกโหยหาในอดีตที่ผ่านมา” แบบที่ในภาษาไทยเรียกว่า “วันชื่นคืนสุข” หรือ “The good old days” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งสำหรับผู้เขียนที่เป็นนักรัฐศาสตร์มองว่า คนไทยในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พอมาถึงหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2489 คงจะได้พบว่าการเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันแรง ๆ ว่า “ล้มเจ้า” ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยดีขึ้น มีแต่ที่จะทำให้ประเทศชาติมีแต่ความวุ่นวายและถดถอย (อย่าลืมว่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้นประเทศไทยก็เพิ่งผ่านเหตุการณ์หายนะจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นมาด้วย ซึ่งในสภาและรัฐบาลก็มีความแตกแยกกันอย่างมาก) ซ้ำร้ายคนที่ขึ้นมามีอำนาจแทนกษัตริย์ก็ใช้อำนาจนั้น “กลั่นแกล้งรังแก” พวกเจ้านั้นมาโดยตลอด ดังที่พวกเขาได้เห็นชะตากรรมของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และ 8 ที่ถูกกระทำย่ำยีดังกล่าว ถึงขั้นที่เชื่อด้วยว่าผู้นำในรัฐบาลบางคนอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในครั้งนั้นด้วย
ดังนั้นคนไทยจึงน่าจะเกิด “ความถวิลหวัง” ในระบอบเดิมขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งผู้เขียนได้ถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นการส่วนตัวในวันหนึ่งว่า ท่านมองความรู้สึกของคนไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ท่านก็บอกว่าท่านเองก็แปลกใจมาก ตั้งแต่ที่ได้เห็นคนไทยไปส่งและรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในคราวที่นิราศและนิวัติพระนครทั้งสองครั้งอย่าง “มืดฟ้ามัวดิน” แบบที่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ยังไม่เคยเห็นภาพดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นในตอนที่ท่านเขียนเรื่องสี่แผ่นดิน ทุกวันที่หน้าโรงพิมพ์สยามรัฐก็จะมีผู้คนมาชุมนุมกันมากบ้างน้อยบ้าง ตอนแรกท่านคิดว่าคงจะเป็นคนที่มาคอยซื้อหนังสือพิมพ์สยามรัฐเพื่อจะได้เปิดอ่านเรื่องสี่แผ่นดินได้อย่างทันอกทันใจ แต่พอให้คนไปถามก็พบว่าส่วนใหญ่นั้นจะเป็น “แฟนคลับ” แม่พลอย ที่มาคอยให้กำลังใจแม่พลอยในทุกวันนั้น ว่าแม่พลอยและ “พระเจ้าอยู่หัว” จะประสบชะตากรรมอะไรบ้าง ซึ่งแสดงว่าคนไทยสมัยนั้นกำลังแสดงถึง “ความรักและความห่วงใย” ต่อพระเจ้าอยู่หัวของพวกเขาอย่างสุดซึ้ง โดยมีแม่พลอยเป็นตัวแทนในความรู้สึกดังกล่าวของคนไทยทั้งหลายนั่นเอง
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้ฟังว่า พอตอนที่เขียนถึงตอนสุดท้ายที่จะต้องให้แม่พลอยตาย ท่านคิดอยู่มากหลายวันทีเดียว ท่านนึกถึงคนตายในแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะคนแก่ ซึ่งเป็นวัยเดียวกันกับแม่พลอย ท่านเองก็ไม่เคยอยู่ใกล้ ๆ คนตายในวัยนี้ ตอนที่ท่านพ่อและท่านแม่ของท่านตายท่านก็เรียนหนังสืออยู่เมืองนอกจึงได้แต่ถามไถ่คนที่มีพ่อแม่หรือคนรู้จักที่มีญาติเป็นคนแก่ ๆ ว่าเขาตายกันยังไง แล้วท่านก็เลือกการแบบ “ค่อย ๆ หลับและหมดลมหายใจไปสบาย ๆ” โดยท่านได้บรรยายบรรยากาศและอารมณ์ของแม่พลอยไปตามลำดับ ดังนี้
“วันนั้นพลอยจำได้ว่าเป็นวันอาทิตย์... เป็นวันอาทิตย์ที่อากาศแจ่มใสเช่นวันธรรมดาวันหนึ่งในเดือนมิถุนายน พลอยตื่นนอนแต่เช้าเช่นเคย ไม่รู้สึกเลยว่ามีอะไรผิดแผกไปจากวันอื่น ๆ เลย... พอตกสาย ๆ ราว ๆ ห้าโมงเช้า พ่อเพิ่มก็เดินหน้าซีดขึ้นบันไดเรือนขึ้นมายังที่พลอยนั่งอยู่ มีตาอั้นนั่งเล่นกับลูกชายคนเล็กอยู่ใกล้ ๆ ... แม่พลอย! พ่ออั้น! เกิดเรื่องใหญ่แล้ว ในหลวงสวรรคต!”
“พลอยสะดุ้งแทบสุดตัว พลางร้องว่า คุณหลวงเอาอะไรมาพูด ไม่จริง ฉันไม่เชื่อ ท่านยังหนุ่มแน่นออกอย่างนั้น จะสวรรคตได้อย่างไร!”
“ฉันแวะเข้าไปกินกาแฟที่หน้าวังก่อนที่จะเข้ามานี่ ได้ยินเขาพูดกันที่นั่น”
“พอบ่ายโมงช้อยก็ออกมาจากในวัง เมื่อเห็นการแต่งตัวของช้อยที่แต่งดำทั้งชุด พลอยก็ได้แต่นั่งนิ่งเหมือนถูกตรึงอยู่กับที่ ช้อยเดินร้องไห้น้ำตาอาบหน้าขึ้นเรือนมา ในใจของพลอยก็ได้แต่ร้องว่า ... ไม่จริง! ไม่จริง! ไม่เชื่อ! ... ช้อยมาเล่ารายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ... หลังจากนั้นท้องฟ้าก็ดูจะมืดครึ้มลง และทุกอย่างก็มืดครึ้มไปตาม เสียงลมพัด เสียงนกร้อง และเสียงน้ำไหลหน้าบ้าน ฟังดูเหมือนเสียงคนร้องไห้...”
“ช้อยกลับไปแล้ว ... พลอยลุกขึ้นเดินช้า ๆ เข้าไปเอนหลังลงนอนที่บนเตียง รู้สึกเหนื่อยและเพลียยิ่งกว่าที่ได้เคยรู้สึกมาในครั้งใด พลอยลงนอนหลับตานิ่ง ๆ พยายามจะไล่ความนึกถึงทั้งหมดออกจากสมอง ... พลอยรู้สึกเหมือนกับว่าตัวลอยขึ้นสู่เบื้องสูงในขณะนั้น ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดแก่ตัวมาหลายครั้งหลายครา ดูเหมือนจะเริ่มหลุดพ้นไป พลอยนึกถึงคุณเปรม ซึ่งดูเหมือนจะมาอยู่ใกล้ตัวทุกครั้งที่บังเกิดความทุกข์โทมนัส ..”
“เย็นวันนั้น วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 น้ำในคลองบางหลวงลงแห้งเกือบขอดคลอง หัวใจพลอยที่อ่อนแอลงด้วยโรคและความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ... ก็หลุดลอยตามน้ำไป”
หัวใจคนไทยกว่า 30 ล้านคนใน พ.ศ. นั้นก็คงจะมีสภาพคล้าย ๆ กับหัวใจของแม่พลอยนี้