วันที่ 4 ก.ค.68 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า...
ทำไมญี่ปุ่นแผ่นดินไหวบ่อย ? มาอธิบายแบบง่ายๆ ให้เพื่อนธรณ์ครับ
โลกมีแผ่นเปลือกโลก (plate techtonic) ลอยอยู่บนแมกมาหนืดๆ ทั้งพื้นแผ่นดินและพื้นทะเลก็อยู่บนแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้แหละ
แผ่นเปลือกโลกจะมีขอบที่ชนกัน ตามแนวขอบจะเป็นจุดที่แผ่นขยับเขยื้อนบ่อย ตรงนั้นจึงเป็นเขตแผ่นดินไหว
ใต้แผ่นคือแมกมา อยากขึ้นมาสู่ผิวโลกเพื่อแปลงร่างเป็นลาวา ตามขอบแผ่นขึ้นง่ายดี จึงเป็นเขตภูเขาไฟส่วนใหญ่ของโลก
ring of fire ที่เรารู้จักกันก็คือขอบแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกชนกับแผ่นเปลือกโลกอื่นๆ (ชมภาพ)
ไทยอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียน (Eurasian) แผ่นใหญ่สุด มีทั้งเอเซียและยุโรปอยู่บนแผ่นนี้
แต่เราไม่ได้อยู่ตรงขอบ ถึงกระนั้น ก็มีขอบแผ่นอยู่ใกล้เรา เราก็ได้รับผลกระทบบ้าง
ญี่ปุ่นตั้งอยู่บนรอยต่อ 3 แผ่นเปลือกโลก eurasian-pacific-philippine ผลกระทบจึงเรียกได้ว่า 3 เด้ง
เนื่องจากญี่ปุ่นแคบ/ยาว อยู่บนขอบยูเรเซี่ยนตลอดประเทศ แผ่นดินไหวจึงเกิดได้ทั้งประเทศ ตรงไหนก็ได้
ภูเขาไฟก็เช่นกัน ในญี่ปุ่นมีภูเขาไฟที่ยัง active จำนวน 111 ลูก ทั้งบนบกและในทะเล กระจายไปทั่วประเทศ (ภาพ)
จำนวนภูเขาไฟ active ในญี่ปุ่นคิดเป็น 10% ของทั้งโลก
แต่ถ้าเป็นสึนามิ ปรกติจะเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลในแปซิฟิก ชายฝั่งด้านนี้จึงเสี่ยงจากคลื่นมากกว่าฝั่งทะเลญี่ปุ่น
ข่าวแผ่นดินไหวรัวๆ ในญี่ปุ่น เป็นสัญญาณเตือนว่าแผ่นเปลือกโลกกำลังปลดปล่อยพลังงาน มีแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดเป็นระยะ
แต่จะเกิดระดับรุนแรงหรือไม่ คงไม่มีใครบอกได้ (ที่ตื่นเต้นกันคือการ์ตูน the future i saw)
เพราะฉะนั้น ใครไปญี่ปุ่น โดยเฉพาะเกาะกิวชู มองซ้ายมองขวาไว้หน่อย ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานกงสุลไทย
หากเกิดเหตุฉุกเฉินจริง คนญี่ปุ่นไปไหน เราตามไปที่นั่น คนญี่ปุ่นถูกฝึกให้รับมือกับเรื่องพวกนี้ดีที่สุดในโลก ทำตามเขาไปดีกว่า
สุดท้าย ควรไปหรือไม่ควร บอกไม่ได้ ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละคน
สำหรับผม มีปัญหากับอากาศร้อนมากกว่าแผ่นดินไหว ถ้าไหวหนาวๆ ธรณ์พร้อมลุย แต่ญี่ปุ่นร้อนขนาดนี้ นอนกลิ้งอยู่กรุงเทพดีกว่าครับ