เกษตรกรชาว อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ ปลูกลำไยบนพื้นบนดินภูเขาไฟประสบผลสำเร็จส่งขายทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ปีละ 5 – 8 แสนบาท หลังที่ผ่านมาทำการเกษตรล้มเหลว ลองผิดลองถูกปลูกมันและอ้อย ขาดทุนมีหนี้สิน ปัจจุบันมีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยลำไยได้รับการขนานนามว่า “ลำไยภูเขาไฟ”
วันนี้(31 ม.ค.62 ) นางสำเนียง บัวใหญ่ อายุ 64 ปี เกษตรกรบ้านเริงทรัพย์ ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ เป็นเกษตรกรรายหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ต่ออาชีพเกษตรกร จากที่ผ่านมานางสำเนียง และสามี ได้ทำการเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลังมานานหลายปี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ประสบปัญหาราคาตกต่ำขาดทุนต้องล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ท้อถอย ยังต่อสู้โดยการลองผิดลองถูกเปลี่ยนมาปลูกอ้อย แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จอีก เพราะยังประสบปัญหาราคาอ้อยตกต่ำเช่นเคย
กรณีดังกล่าวทำให้ตนและครอบครัวมีหนี้สินทั้งในและนอกระบบ สุดท้ายจึงได้ตัดสินใจปรับพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 6 ไร่ หันมาทดลองปลูกลำไยสายพันธ์อีดอร์ หลังมีโอกาสไปศึกษาดูงานและเรียนรู้การปลูก และบำรุงลำไยสายพันธ์อีดอร์ จากเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จที่ จ.จันทบุรี จึงตัดสินใจซื้อต้นพันธุ์ลำไยต้นละ 15 บาท และนำความรู้ที่ได้ไปดูงาน มาพัฒนาต่อยอดให้ลำไยสายพันธ์ดังกล่าว สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อน และเป็นพื้นดินถิ่นภูเขาไฟ ที่ค่อนข้างที่แห้งแล้ง โดยมีนายสมบูรณ์ สิงห์จำปาทอง ลูกเขยและลูกสาว คอยช่วยดูแลบำรุงรักษาอีกแรงหนึ่ง จนปัจจุบันลำไยสายพันธ์อีดอร์ที่ปลูกไว้ ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปีแล้ว
ซึ่งลำไยที่ปลูกมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากจำลำไยที่อื่น คือ มี ลูกใหญ่ กลิ่นหอม รสชาติหวาน และมีที่เนื้อกรอบ หากใครได้รับประทานก็จะติดใจ ต่างจากลำไยทั่วไป ส่วนด้านการตลาดหรือการจำหน่ายผลผลิตลำไยก็ไม่มีปัญหา เพราะมีพ่อค้าขายส่งจากจังหวัดจันทบุรี ทางภาคตะวันออก ทั้งพ่อค้าขายส่งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ จีน เข้ามารับซื้อลำไยแบบเหมาสวน ในราคากิโลกรัมละ 30 บาท มาตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงปัจจุบัน ทำให้ครอบครัวมีรายได้จากการปลูกลำไยปีละ 500,000 – 800,000 บาท หักค่าบำรุงรักษาปีละประมาณ 100,000 บาท ส่งผลให้มีเงินชำระหนี้สิน ครอบครัวมีความสุข และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นางสำเนียง กล่าวว่า ลำไยดังกล่าวได้ถูกขนานนามจากทางอำเภอ จังหวัด และชาวสวนว่า “ลำไยภูเขาไฟ” เพราะเนื่องจากปลูกในพื้นที่จังหวัดที่มีภูเขาไฟที่มอดดับไปแล้วถึง 6 ลูก ทำให้มีคุณสมบัติเฉพาะ ปัจจุบันครอบครัวได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกลำไยสายพันธุ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 10 ไร่ รวมจากที่ปลูกไว้เดิม 6 ไร่ รวมเป็น 16 ไร่ และอีกประมาณ 2 ปีจะสามารถให้ผลผลิตได้
พร้อมยังมั่นใจว่า ความต้องการของตลาดลำไย และความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ยังมีสูงและจะสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ตลอด ปัจจุบัน “ลำไยภูเขาไฟ” ของตนได้ถูกยกย่องกลายเป็นผลไม้ของดีประจำหมู่บ้านท่องเที่ยวนวัตวิถี บ้านเริงทรัพย์ เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคไปแล้ว
นางสำเนียง ยังฝากถึงเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชอื่นที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ได้ปรับเปลี่ยนหันมาปลูกลำไยลองดู ตนก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษาด้านการเพาะปลูกและการบำรุงรักษากับเกษตรกรที่สนใจ เพราะที่ผ่านมาตนก็เคยทำการเกษตรได้รับความล้มเหลวมาแล้วเช่นกัน