กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เป็นโมเดลธุรกิจที่น่าจับตาในยุคที่ผู้คนต้องการมากกว่าตัวเลขผลกำไร แม้ความเข้าใจเรื่อง SE ในไทยยังค่อนข้างสับสน บางคนมองว่าเป็นกิจกรรมจิตอาสา สินค้าโอทอป หรือองค์กรไม่แสวงกำไร ในความจริง SE คือ “ธุรกิจจริงจัง” ที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาสังคมอยู่ในแผนตั้งแต่แรก SE จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “แนวคิดดีๆ” หรือ “แพสชันของคนใจดี” แต่มันคือโมเดลธุรกิจที่สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ และสังคม
แม้ตอนนี้กิจการเพื่อสังคมอาจยังเจอข้อจำกัดในด้านนโยบายและอีโคซิสเต็ม (ระบบนิเวศ) ในสังคมที่จะช่วยผลักดันกิจการ แต่ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่รอให้ระบบพร้อม พวกเขาเริ่มลงมือทำ และมอง “ผลกระทบทางสังคม” เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจไม่ต่างจากกำไร
การมีแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงภาคการศึกษา ที่ให้พื้นที่คนรุ่นใหม่ได้ฝึกปรือทักษะผู้ประกอบการ SE จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้กิจการของพวกเขาไปได้ตลอดลอดฝั่ง
กระแส SE ขยายถึงรากฐานสังคม คนรุ่นใหม่ในชุมชนเริ่มลงมือจริง กระแสการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมวันนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มคนในเมืองหรือนักธุรกิจหัวก้าวหน้าอีกต่อไป แต่กำลังค่อยๆ แผ่ขยายไปสู่รากฐานของสังคม โดยเฉพาะคนในชุมชนท้องถิ่น
ดร.ภูธิป มีถาวรกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคม และอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า “ในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นเทรนด์หรือกระแสการสมัครเรียนต่อในหลักสูตรสาขาวิชาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ มศว ของนักเรียน ม.ปลายที่มาจากชุมชนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น กว่าประมาณ 10 - 15% โดยทุกคนมาพร้อมเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะใช้โมเดล SE เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาในพื้นที่บ้านเกิดตัวเอง ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะจากชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้มองเห็นแค่ปัญหา แต่กำลัง ‘ลงมือเรียนรู้’ อย่างจริงจัง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง”
ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ กำลังเริ่มต้นขึ้นจริงในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) สถาบันเดียวในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจ “สาขาวิชาธุรกิจเพื่อสังคม” ระดับปริญญาตรีอย่างเต็มรูปแบบ ในหลักสูตรนี้ นิสิตจะได้เรียนตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการตลาด การเงิน การบัญชี ไปจนถึงทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนแบรนด์ เช่น การเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่สำคัญคือ ทุกอย่างวิชาที่เรียนจะถูกเชื่อมโยงกับบริบทของปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ไฮไลต์ของหลักสูตรอยู่ที่วิชาช่วงสุดท้ายที่จะทำเป็นโปรเจกต์จบ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “โครงการทดลอง” หรือ Pilot Project ที่นิสิตต้องออกแบบกิจการ SE ของตัวเอง พร้อมลงมือทดสอบจริง ไม่ใช่แค่คิดโมเดลส่งอาจารย์แล้วจบ แต่ต้องลงพื้นที่ ระบุผู้มีส่วนได้เสีย และพิสูจน์ให้เห็นว่า ธุรกิจที่สร้างขึ้นสามารถช่วยชุมชน สร้างรายได้ หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมได้จริงแค่ไหน
“ผมเชื่อว่า ยิ่งเรามีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ทดลอง ลงมือ และปล่อยไอเดียมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็นผู้ประกอบการ SE หน้าใหม่เกิดขึ้น และกลายเป็นขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหาใกล้ตัวได้อย่างยั่งยืนได้อย่างยั่งยืน” ดร.ภูธิป กล่าวเสริม
แรงใจ และ Network ตัวแปรสำคัญทำให้ SE ไปต่อได้ไกล
ดร. ภูธิป ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “จากการคลุกคลีกับวงการ SE นาน ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ SE มีอันต้องปิดกิจการ คือความท้อของผู้ประกอบการ ทั้งเงินทุนเริ่มหมด กำลังใจด้านสังคมเริ่มหมด ดังนั้นการมีเครือข่าย (Network) ของคนที่มีหัวอกเดียวกัน เข้าใจปัญหาเดียวกัน และช่วยกันแนะทางออกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องสร้างเครือข่าย SE ให้แข็งแรง ต้องทำให้คนรู้สึกว่า SE เท่ากับ Startup มีความเท่ ความเจ๋งเท่ากัน และอยากก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชุมชน’ นี้”
“สำหรับคนทั่วไป เราจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อน SE โดยการสนับสนุนสินค้า เพราะสุดท้ายแล้วกิจการเหล่านี้จะสร้างผลดีกลับมาที่เรา นอกจากนั้นปัญหาที่ทุกคนเคยเจอ ในวันนี้ก็จะลดลงโดยไม่รู้ตัว เมื่อไหร่ที่เราลดความยากจนลงได้ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีจะกลับมาสู่เราและลูกหลานของเราเอง อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ ‘เอาใจ’ (สปอย) SE สินค้าไม่ดีต้องบอกไม่ดี เพื่อให้มีการพัฒนา”
Banpu Champions for Change – พื้นที่ปลอดภัยพอจะทดลอง และท้าทายพอที่จะเติบโต
ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา บ้านปูผลักดันกิจการเพื่อสังคมผ่านโครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) เพราะเชื่อมั่นว่าศักยภาพของผู้ประกอบการ SE จะช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแกร่ง พร้อมแก้ปัญหาสังคมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด
ปีนี้ BC4C ก้าวสู่ปีที่ 14 ภายใต้ธีม “จุดไฟ โตไปพร้อมกัน” ได้ขยายพื้นที่กิจกรรมการออกไปยังหัวเมืองใหญ่ 4 ภาค ในจังหวัดเชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และกรุงเทพฯ เพื่อค้นหา SE ในชุมชนที่มีไอเดีย มีแรงใจ แต่ยังขาด “พื้นที่” หรือ Playground ที่ให้ลงมือจริง
BC4C ไม่ใช่แค่เวิร์กช็อป แต่คือการได้ฝึกลงสนามจริง ผ่านโปรแกรม “การบ่มเพาะกิจการระยะเริ่มต้น” (Incubation Program) ที่สอนตั้งแต่การวางรากฐานธุรกิจ เช่น การคิดต้นทุน/กำไร การทำระบบบัญชี การแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ เช่น การตั้งสมมุติฐานของปัญหา การวัดผลกระทบทางสังคม ไปจนถึงการให้ทุนทดลองตลาด ทุกทีมจะได้รับการดูแลจากพี่เลี้ยง (Mentor) ผู้ประกอบการ SE ตัวจริงที่จะคอยให้คำปรึกษาและลงไปเป็นเพื่อนร่วมเดินทางตลอดระยะเวลาโครงการฯ
“ในปีนี้เราได้รับความสนใจจาก SE หน้าใหม่ในท้องถิ่นมากขึ้น มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ถึง 51 กิจการ จาก 14 จังหวัด จากทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เฉลี่ยอายุอยู่ระหว่าง 20-30 ปี ประเด็นสังคมส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องการแก้ไขจะเกี่ยวกับเศรษฐกิจในชุมชน การจ้างงานผู้ด้อยโอกาส ปัญหาด้านการศึกษา และสุขภาพทั้งกายและใจ เป็นต้น สะท้อนว่าวัยรุ่นในพื้นที่เริ่มสนใจกลไกของกิจการเพื่อสังคมที่จะมาช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ในระยะยาว” — รัฐพล สุคนธี, ผู้อำนวยการสายอาวุโส–สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
ติดตามความเคลื่อนไหวของกิจการเพื่อสังคมหน้าใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change: BC4C) ปีที่ 14 ที่มาในคอนเซปต์ “จุดไฟ โตต่อไปพร้อมกัน” ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/banpuchampions โทรศัพท์ 087-075-4815 และอีเมล [email protected]