วันที่ 3 ก.ค.2568 เวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เปิดให้สมาชิกหารือความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า เมื่อปิดสมัยประชุมฯ สถานการณ์ทางการเมือง รู้สึกสับสนพอสมควร มีการชุมนุมกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา การชุมนุมแบบสันติถือเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อประชาชนเฝ้าดูตามปราศรัยของแกนนำ บางคนเลยเถิดไป บางคนปราศรัยเปิดทางให้มีการรัฐประหาร หากมีรัฐประหารแล้วจะไม่ขัดข้อง แต่มีแล้วต้องให้พลเรือนปกครองไม่ใช่ให้พลเอก

นายอดิศร กล่าวต่อว่า ตนถือว่าปัญหาเรื่องการกวักมือให้ทหารมาทำรัฐประหารนั้น เป็นการทำลายระบอบรัฐสภาและระบอบประชาธิปไตย ต่อมามีพรรคการเมืองหนึ่งออกจากพรรคร่วมรัฐบาลไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน ไม่ทันไรสว.สีน้ำเงิน 36 คนก็ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ และศาลรัฐธรรมนูญก็รับลูกทันทีว่าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งน.ส.แพทองธารยังไม่ได้มีความผิดอะไร ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจริยธรรมร้ายแรงที่ถูกกล่าวหานั้นผิดหรือไม่

นายอดิศร กล่าวต่อว่า จึงขอให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี เพราะท่านมาตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ให้ระบอบอื่นหรืออำนาจอื่นมาแทรกแซงการถ่วงดุลอำนาจตามอธิปไตย ตนมองว่าอำนาจตุลาการและนิติบัญญัติ เขาวางระเบียบไว้อยู่ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เขาจะมีเรื่องราวอะไรกันก็แล้วแต่ แต่ตนอยากให้ประชาชนคนไทยและกัมพูชารักกัน ไม่มีข้อบาดหมางกัน อยากให้ท่านประธานไปเยี่ยมกัมพูชา หรือกัมพูชามาเยี่ยมเรา ในฐานะที่เป็นประชาชน หากจะรบหรือเกิดสงครามไม่มีประโยชน์ ใดๆ

“ผมขอฝากกลอนไว้ว่า ให้ถอนตัวหรือลาออก บางคนบอกให้ยุบสภา ใช้ตุลาการพิจารณา พร้อมเรียกหารัฐประหาร หน้าเก่าเมื่อครั้งก่อน เคยหลอกหลอนมีหลักฐาน จงเข้มแข็งแพทองธาร ประชาธิปไตยคือปราการปกป้อง จงเข้มแข็งแพทองธาร คนหลายล้านเคียงข้างคุณ” นายอดิศร กล่าว