หอการค้าฉะเชิงเทราสับปรับค่าแรง 400 แปดริ้วซ้ำเติมสภาพถดถอยทำรายย่อยตาย
หอการค้าสับรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงแปดริ้ว 400 บาทเทียบชั้นเมืองท่องเที่ยวและ กทม. ทำธุรกิจรายย่อยตาย โอดไม่ฟังเสียงค้านจากผู้ประกอบการที่เคยแย้งไว้ก่อนหน้า ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย ชี้ควรประกาศปรับแต่เฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะด้านอุตสาหกรรม มองการปรับแบบเหมารวมทั้งจังหวัดทำ SME อยู่ไม่ได้ ส่งผลทำแรงงานอาจถูกลอยแพเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้นตามมา
วันที่ 2 ก.ค.68 เวลา 15.30 น. นายยุทธนา มาตเจือ ประธานหอการค้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึง ครม.เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จ.ฉะเชิงเทรา 400 บาท และมีผลทันทีเมื่อวันที่ 1 ก.ค.68 ว่า มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการใน จ.ฉะเชิงเทรา ค่อนข้างมาก เพราะมีแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ หากจะยึดเอาอีอีซีมาเป็นหลักในการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ มองว่าไม่ยุติธรรมแม้จะเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษก็จริง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ได้อะไรอย่างจริงจัง
จึงทำให้การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทในครั้งนี้ เราไม่สามารถที่จะไปต่อสู้กับรายอื่นที่เป็นอุตสาหกรรมเหมือนกันในพื้นที่อื่นได้ และจะเกิดเป็นผลกระทบในมุมกว้างเกี่ยวกับเรื่องของค่าแรงจริงๆ ที่ไม่ใช่แต่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมด้านเดียว ผู้ประกอบการในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นห้างร้าน รวมถึงร้านค้าขายต่างๆ นั้น ล้วนได้รับผลกระทบไปด้วยกันทั้งสิ้น จึงมองว่ามันควรที่จะเจาะจงไปที่ในด้านเฉพาะภาคอุตสาหกรรมจริงๆ และไม่ควรที่จะเหมารวมไปทั่วทั้งจังหวัด หรือควรจะบ่งบอกแต่เฉพาะในเขตพื้นที่
ขณะที่สภาพปัจจุบันผู้ประกอบการทุกรายมีรายได้ที่ลดลงอยู่ก่อนแล้ว และยังต้องมาเจอกับปัญหาการปรับขึ้นค่าแรงงาน 400 บาทอีก จึงทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างสูงมาก ในเมื่อต้นทุนค่าแรงเพิ่มสูง จะทำให้ราคาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่ราคาเพิ่มสูงขึ้นด้วย จึงอยากให้มีการทบทวนตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงอยู่แล้ว และได้เคยได้ทำหนังสือขึ้นไปในนามขอ’จังหวัด ในนามของหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม แต่กลับไม่เคยมีผลการตอบรับกลับมาเลย
ทำให้ขณะนี้ผลประกอบการในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา แย่ลงอย่างมากรายได้ลดลง และจะทำให้เกิดการเลิกจ้างที่จะมีมากขึ้น การจ้างงานล่วงเวลาก็จะลดลงตามไปด้วย จึงอยากให้ทางภาครัฐได้ลงมาดูอย่างจริงจัง ว่าสภาพการจ้างแรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้นน้อยมากกว่าผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบ เช่น แรงงานในร้านค้า ร้านขายของ ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งล้วนต่างโดนค่าแรง 400 บาทไปด้วยกัน จึงทำให้มีผลกระทบค่อนข้างสูงมากไปในทุกประเภทกิจการในการจ้างแรงงาน
ทั้งที่ผู้ประกอบการต่างๆนั้น ล้วนได้รับผลกระทบจากสภาพสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่แล้วในขณะนี้ จึงอยากสะท้อนปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไปถึงยังรัฐบาลจริงๆ ฉะนั้นการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทได้ทำให้ จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับความเดือดร้อนอย่างสูงมาก ทั้งที่ความจริงแล้วแรงงานในภาคเกษตรกรรมใน จ.ฉะเชิงเทรานั้น ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงควรที่จะขึ้นค่าแรงแต่เฉพาะในเขตอุตสาหกรรมเท่านั้น และขอเป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งกลับไปถึงรัฐบาล จากหอการค้า จ.ฉะเชิงเทรา ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่มองเห็นในตอนนี้ ร้านค้า พ่อค้า แม่ค้า หรือผู้ประกอบการที่ไม่ใช่รายใหญ่หรือ SME มีผลกระทบค่อนข้างมาก
จากการประชุมสมาชิกหอการค้าในทุกเดือนได้ทำให้ทราบว่า รายได้ของผู้ประกอบการได้หายไปส่วนหนึ่ง หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้เดิม เมื่อมาบวกกับการปรับขึ้นค่าจ้างอีก 400 บาทนั้น จึงทำให้เกิดผลกระทบที่ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมากไปอีก จึงอยากฝากไปถึงยังรัฐบาลชุดนี้ได้เล็งเห็นในเรื่องของเศรษฐกิจปากท้องของผู้ประกอบการและเกษตรกรเป็นหลักด้วย แม้ขณะนี้ค่าแรงงานจะสูงเราก็อยากได้ผลผลิตที่มีราคาสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน และอยากมีผลประกอบการเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ด้วย
จึงอยากให้ทางรัฐบาลได้ลงมาดูและรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการกลับไปจริงๆ ที่ไม่ใช่ตัวเลขที่อยู่บนกระดาษ โดยให้ลงมาดูเศรษฐกิจในท้องถิ่นจริงๆ ทั้ง SME- SML หรือห้างร้าน และในขณะนี้ยังมีการเลิกจ้างงานค่อนข้างเยอะมากแล้ว เพราะเมื่อผลประกอบการไม่ดีหากยังถือลูกจ้างเอาไว้เป็นจำนวนมากโอกาสที่จะปิดโรงงานค่อนข้างสูง หากจะให้บริษัทดำเนินการอยู่ต่อไปได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเลิกจ้างแรงงาน ซึ่งขณะนี้หลายแห่งได้เริ่มเลิกจ้างไปบ้างแล้วเป็นบางส่วน
สุดท้ายจึงอยากฝากไปถึงยังรัฐบาลอีกว่า ถ้าเห็นว่าใน SML, SME มีผลประกอบการลดลง ในการส่งภาษีคืนรัฐบาล หรือยื่นภาษีรายได้น้อยลง รายได้ของรัฐบาลก็จะน้อยลงตามไปด้วย จึงอยากถามว่าเงินที่รัฐบาลควรจะได้มากขึ้นและเอาไปเป็นงบประมาณในส่วนต่างๆ ลงสู่พื้นที่ก็จะน้อยลง ฉะนั้นหากรัฐไม่นำเงินมาลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้วจะมีผู้ประกอบการายใดที่จะยื่นประมูลและดำเนินกิจการได้ รายได้ก็จะน้อยลงตามด้วย
หาก SME- SML น้อยลงไปเรื่อยๆ รายได้รัฐไม่ว่าจะเป็นภาษีทางตรงหรือทางอ้อมก็จะน้อยลงตามไปด้วยอีก เงินที่ควรจะได้รับหรือจัดเก็บได้มากขึ้นจะกลับกลายเป็นน้อยลง ก็จะทำให้งบปนะมาณที่จะลงสู่ท้องถิ่นน้อยลง จึงอยากฝากไว้ว่าพื้นฐานของภาษีนั้นมาจากประชาชนไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรงหรือทางอ้อม หากมีผู้ประกอบการมากขึ้นรัฐก็จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น งบประมาณที่จะลงไปในโครงสร้างก็จะมากขึ้นเป็นแบบลูกโซ่ จึงขอฝากเอาไว้ตรงนี้ นายยุทธนา กล่าว