กลุ่มวิสหกิจชุมชนบ้านช้างเชื่อ จังหวัดพังงา เปลี่ยนผลไม้ส่วนเกิน กลายเป็น “ถ่านชาร์โคล” สู่พลังงานสะอาด เสริมเศรษฐกิจ และสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในยุคที่โลกหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร กลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่น คือ การผลิต “ถ่านผลไม้” ซึ่งเป็นการนำเปลือก เศษผลไม้ หรือผลไม้ที่ไม่สามารถบริโภคได้มาเผาเป็นถ่านคุณภาพสูง เพื่อใช้ในหลายวัตถุประสงค์ ทั้งด้านพลังงาน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมสุขภาพ 

สำหรับจังหวัดพังงาเอง ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงที่เต็มไปด้วยผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้นานาชนิด ที่ชาวสวนนำมาจำหน่ายในท้องตลาดกันอย่างคึกคัก แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผลไม้ส่วนเกินหรือผลที่มีตำหนิไม่สามารถขายได้ ก็กลายเป็นปัญหาขยะเปียกจำนวนมาก ซึ่งสร้างภาระทั้งต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม

นายพีระยศ โสพรรณ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านช้างเชื่อ กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ตำบลเหล อำเภอกะปง ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ หลายชุมชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านช้างเชื่อ จึงเริ่มหันมาแปรรูปผลไม้ส่วนเกินให้กลายเป็น “ถ่านผลไม้” หรือ “ถ่านชาร์โคล” ด้วยการอบโดยใช้พลังงานควันไฟในอุณหภูมิ 400 – 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยดูดซับกลิ่นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมเพื่อสุขภาพ อาทิ แชมพู สบู่ เจลอาบน้ำ และยังสามารถเติมสีสันให้กับอาหารและเบอเกอรี่ด้วย ซึ่งนอกจากช่วยลดของเสียแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน ช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม จังหวัดพังงาในฤดูผลไม้นี้ ไม่เพียงแต่มีเสน่ห์จากผลผลิตอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังซ่อนศักยภาพในการเป็นต้นแบบของการจัดการของเหลือทิ้งอย่างยั่งยืน โดยการนำผลไม้ส่วนเกินมาแปรรูปเป็นถ่านชาร์โคล  ซึ่งถือเป็นทางออกที่ลงตัว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชน และยังสะท้อนแนวคิด “ไร้ขยะ สร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตเหลือทิ้งทางการเกษตร” ได้อย่างแท้จริง