ขึ้นชื่อว่า “ของเถื่อน” ปราบอย่างไรก็ไม่หมด ทั้งสินค้าอุปโภค-บริโภค ของสวยๆ งามๆ แปลกๆ ทั้งที่มีคุณและมีโทษต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดีของมนุษย์ สังคมยังเห็นข่าวการจับกุมต่อเนื่องไม่ขาดสาย ส่วนพวกที่เล็ดลอดการจับกุมก็ยังมีขายแบบเปิดเผยทางช่องออนไลน์ ตลาดสด หรือร้านค้า โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่าระบบควบคุมสินค้าสัตว์น้ำของไทยยังมีช่องโหว่ และหากไม่จัดการอย่างจริงจังจะเป็นภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย การค้าชายแดน และความมั่นคงทางสุขภาพสัตว์น้ำในประเทศ

ของเถื่อน แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ไม่ควรเป็นเรื่อง “ปกติ” เพราะยังพบเห็นของเถื่อนได้ทั่วไป เหตุเพราะระบบควบคุมและกฎหมายยังมีช่องโหว่ ทั้งการตรวจปลายทางไม่ทั่วถึง การสำแดงเท็จที่เจ้าหน้าที่ตรวจไม่ทัน หรือการแฝงมากับสินค้าประเภทอื่น

ล่าสุดกรมประมงจับกุมปลากะพงขาวจำนวน 7 ตัน ได้ที่ด่านสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดเป้าหมาย คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในการป้องกันปราบปรามการลักลอบสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร

รายงานของกรมประมงช่วงปี 2566-2567 การจับกุมการลักลอบนำเข้าของเถื่อนมีหลายร้อยคดีใน 3 หมวดใหญ่ ทั้ง พืช ประมง และปศุสัตว์ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบผ่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทุกภูมิภาคของไทย 

สำหรับสัตว์น้ำที่ลักลอบนำเข้ามีทั้งที่เป็นอาหาร เช่น ปลากะพง หอยลาย ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าในหลายรูปแบบทั้งสำแดงเท็จ และแฝงมากับสินค้าอื่น นอกจากนี้ ยังมีสัตว์น้ำสวยงาม ปลาแปลก ปลาหายาก ปะการัง และสัตว์น้ำอื่นๆ เช่น ปลามังกร ปลาอะโรวาน่าแดง เต่าดาวอินเดีย เป็นต้น แม้หน่วยงานภาครัฐจะยกระดับความเข้มข้นในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีช่องโหว่ให้นักฉวยโอกาสใช้เป็นช่องทางกระทำผิดกฎหมายมาโดยตลอด

ที่สำคัญสัตว์น้ำควรต้องมีมาตรการเฝ้าระวังระดับสูง เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนของสารต้องห้าม เช่น ยาปฏิชีวนะตกค้างสารเร่งโต, หรือโลหะหนัก ซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเฉพาะอาจนำเข้าโรคที่ยังไม่พบในประเทศไทย เช่น VNN (Viral Nervous Necrosis), TiLV (Tilapia Lake Virus) หรือโรคแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อของอุตสาหกรรมส่งออกสัตว์น้ำไทยในตลาดโลก และเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางชีวภาพ (Biosecurity Threat)

อีกทั้งการทะลักเข้ามาของปลาเถื่อนจากประเทศต้นทางที่มีต้นทุนต่ำกว่าประเทศไทยมาก เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะจะทำให้ราคาปลาไทยในประเทศตกต่ำ ผู้เลี้ยงไทยเสียเปรียบด้วยเกษตรกรไทยต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP, GMP, และ HACCP ขณะที่สินค้าลักลอบไม่ต้องรับผิดชอบต้นทุนด้านมาตรฐานเหล่านี้ 

สัตว์นำเถื่อนเหล่านี้ ทำลายห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในไทย ตั้งแต่ฟาร์ม ลูกพันธุ์ อาหารสัตว์ จนถึงตลาดปลายทาง

ที่น่าสนใจอย่างมาก คือ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามอันดับ 5 ของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณ 7.38% โดยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปลาที่นำมาเพาะพันธุ์เพื่อการส่งออกอาจมาจากการลักลอบนำเข้าและส่งออกแบบผิดกฎหมายด้วย ปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมและมีมูลค่าสูงในการส่งออก ได้แก่ ปลากัด ปลาหมอสี ปลาคราฟ ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาตะพัด และมีตลาดสำคัญในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงตลาดยุโรปบางประเทศ ปลาสวยงามที่ผลิตในประเทศไทยได้รับความนิยมสูงเนื่องจากคุณภาพดีและมีความหลากหลาย

สัตว์น้ำบางชนิดที่ลักลอบเข้ามาแม้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการบริโภคโดยตรง แต่เมื่อแอบลักลอบปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ อาจกลายเป็น ‘ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในประเทศในระยะยาวได้

เห็นได้ว่า “ของเถื่อน” ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือ สิ่งของ ล้วนเป็นอันตรายมากกว่าประโยชน์กับคนไทย ตราบใดที่สังคมยังพอใจกับราคา “ถูก” โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมา ขณะที่ระเบียบการนำเข้าและการตรวจสอบที่เข้มงวดถูกละเลย ไทยก็จะต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ไม่มีวันจบ 

เปรียบเทียบกับ “ของถูกกฎหมาย” ต้องขออนุญาต มีภาษีนำเข้า ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเคร่งครัดมากมาย นับเป็นต้นทุนที่ไม่เป็นธรรมกับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ตาม ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องทบทวนนโยบายและแนวทางเพื่อปิด “ช่องโหว่” เพื่อจูงใจให้ “ของเถื่อน” กลับเข้าสู่ระบบเป็น “ของถูก” กฎหมายได้โดยสมัครใจและตรวจสอบบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน

โดย : อัยย์ วิทยาเจริญ นักวิชาการอิสระด้านสัตว์น้ำ  

ขอบคุณภาพ : กรมประมง