ค่ายทหารเมียนมาเมืองผาซอง รัฐคาเรนนี ถูกกองกำลังผสมกะหรี่ยงคาเรนนียึดได้เบ็ดเสร็จ 1 ค่าย ยังคงเหลืออีก 1 ค่ายใหญ่ที่หลงเหลืออยู่ด้าน กองกำลังผสมหยุดพักการสู้รบชั่วคราวเพื่อปรับกำลังใหม่อีกรอบ จากการสู้รบอย่างหนัก มีผู้บาดเจ็บมารับการรักษาในไทย 90 กว่าคน
วันที่ 2 ก.ค.68 แหล่งข่าวผู้นำระดับสูงกองทัพกะเหรี่ยงคาเรนนี KA เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวเมื่อเช้าวันนี้ว่า กองกำลังผสมกะเหรี่ยงคาเรนนี ประกอบด้วย กองทัพกะเหรี่ยงคาเรนนี Karenni Army , กองกำลังป้องกันชาติคาเรนนี Karenni National Defenese Force และ กองกำลังดาวแดง Karenni National People Liberation Fornt สามารถยึดค่ายใหญ่ของทหารเมียนมา ค่ายกองพันทหารราบที่ 134 ได้อย่างเบ็ดเสร็จเมื่อบ่ายวานนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 ทางด้านกองกำลังผสม สามารถค่ายทหารเมียนมาอีก 1 ค่ายคือค่ายทหารเมียนมา กองพันทหารราบที่ 135 ซึ่งในค่ายดังกล่าวยังมีทหารเมียนมากองพันที่ 1 และกองพันที่ 14 ซึ่งเป็นทหารเมียนมาจากค่ายป่าตึง ที่ถูกทหารกะเหรี่ยงคาเรนนียึดค่ายได้เมื่อปีก่อน และได้หนีไปอยู่กับทหารเมียนมาที่เมืองผาซอง
การสู้รบดังกล่าวได้เริ่มต้นตั้งแต่ วันที่ 25 มิถุนายน 2568 เวลา 05.30 น.เมื่อกองกำลังผสมคาเรนนีจำนวนกว่า 300 นายได้บุกเข้าโจมตีเพื่อยึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในเมืองผาซอง และสามารถยึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมาได้เพียง 1 ฐาน คือฐานที่มั่น ทหารเมียนมากองพันทหารราบที่ 135 แต่ต่อมาทหารเมียนมาสามารถหวนกลับมายึดค่ายกลับคืนไปได้ ส่วนที่เหลืออีก 1 ค่าย ยังไม่สามารถยึดได้และอยู่ระหว่างการสู้รบอย่างดุเดือด ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 จึงสามารถยึดได้อีก 1 ค่าย คือค่ายทหารเมียนมา กองพันทหารราบที่ 134 ได้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามค่ายทหารเมียนมาที่เหลือคือค่ายกองพันทหารราบที่ 135 จะถูกยึดให้ได้ในเร็ว ๆนี้ และขณะนี้ ทางฝ่ายกองกำลังผสมคาเรนนี ได้มีการหยุดพักการสู้รบ เนื่องจากมีทหารสูญเสียไปจำนวนมากและทหารส่วนใหญ่อ่อนล้าจากการทำศึกที่ต่อเนื่องมาถึง 8 วัน
จากการสู้รบอย่างดุเดือด ส่งผลให้มีการลำเลียงทหารและราษฎรชาวกะเหรี่ยงคาเรนนีที่โดนลูกหลงจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบเมียนมา เข้ารับการรักษาตัวในไทยกว่า 90 ราย โดยทางการไทยต้องจัดทีมแพทย์ฉุกเฉิน Sky Docter จากโรงพยาบาลนครพิงค์และเฮลิคอปเตอร์กองทัพอากาศจาก กองบิน 41 มาลำเลียงผู้ป่วยอาการหนักไปรักษาตัวในโรงพยาบาลนครพิงค์และโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม และเนื่องด้วยกำลังของแพทย์และพยาบาลในพื้นที่ไม่เพียงพอ ทางโรงพยาบาลในเชียงใหม่ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลแต่ละอำเภอในเชียงใหม่ มาสนับสนุนให้การให้การช่วยเหลือรักษาคนป่วยจากการสู้รบที่ถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง