เกษตรกรชาวสวนยางเมืองสงขลาปลูกสละอินโดร่วมสวนยางพารา สร้างรายได้งาม
นางชวนขวัญ ปล้องพันธ์ เกษตรกรชาวสวนยางพารา หมู่ 3 ตำบลทุ่งหวัง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา ปลูกสละอินโดร่วมกับยางพารา เก็บผลผลิตสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัว
โดยนางชวนขวัญฯ เล่าให้ฟังว่า ตนและครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางพารา แต่รายได้จากสวนยางไม่แน่นอน อีกทั้งบางปีที่มีฝนตกชุกก็จะเก็บผลผลิตยางพาราได้น้อย รายได้จากสวนยางก็ลดน้อยลง จึงสนใจหารายได้เพิ่มในสวนยางด้วยการปลูกพืชร่วมยางพารา โดยได้นำสละอินโดมาปลูกระหว่างแถวยางพารา เนื่องด้วยสละอินโดเป็นพืชที่ชอบสภาพอากาศที่เป็นร่มเงามีแสงแดดส่องถึง เหมาะกับการปลูกในสวนยางที่เปิดกรีดแล้ว เป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว ไม่มีปัญหาศัตรูพืชรบกวน หลังปลูกเพียง 2 ปีเริ่มให้ผลผลิตเก็บผลบริโภคและจำหน่ายได้ ผลผลิตออกตลอดปี โดยจะปลูกสละอินโดเป็นแถวคู่สลับฟันปลา ในระหว่างแถวของต้นยางพารา ในพื้นทีสวนยางประมาณ 2 ไร่ เป็นจำนวนประมาณ 400 ต้น ปัจจุบันสละอินโดของตนปลูกมากว่า 6 ปีแล้ว
เนื่องจากสละอินโด เป็นพืชที่มีดอกแยกเพศ คือเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่คนละต้นกัน หลังปลูกทราบว่าเป็นต้นเพศผู้หรือเพศเมีย เมื่อต้นสละอินโดแทงช่อดอกออกมา การติดผลตามธรรมชาติ จึงต้องอาศัยแมลงผสมเกสร แต่ผลผลิตจะไม่ดก เพื่อเพิ่มการติดผลให้สูงขึ้น ตนจะตัดช่อดอกเกสรตัวผู้ นำไปเคาะละอองเกสรเพศผู้หรือวางช่อดอกเกสรตัวผู้บนช่อดอกเกสรตัวเมียของต้นเพศเมีย หลังผสมเกสรประมาณ 5 เดือน สามารถเก็บผลผลิตได้ และสละอินโด เป็นพืชที่แตกหน่อคล้ายไผ่ ลำต้นและทางใบมีหนาม จะต้องหมั่นตัดแต่งต้นและทางใบสม่ำเสมอเพื่อสะดวกในการจัดการ และช่วยให้ผลและทะลายของสละอินโด ช่อโต ผลใหญ่ ซึ่งสละอินโดให้ผลผลิตมากช่วงเดือนพฤษภาคม- มิถุนายน และช่วงเดือน สิงหาคม -กันยายน ของทุกปี เมื่อผลสุกเต็มที่มีรสชาติ หวาน หอม กรอบ อร่อย ไม่ฝาด
สำหรับการเก็บเกี่ยวสละอินโดในสวนของตน จะต้องชิมผลทุกช่อก่อนตัด หากยังมีรสฝาด จะไม่ตัดเด็ดขาด จะต้องมีรสชาติ หวาน กรอบเท่านั้น จึงทำให้ลูกค้าพึงพอใจเป็นอย่างมาก โดยตนจะเก็บผลผลิตทุกๆ 3 วันต่อครั้ง แต่ละครั้งจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 15 กิโลกรัม หลังเก็บเกี่ยวแล้วนำมาทำความสะอาดด้วยการใช้แปรงเล็กๆเขี่ยดินหรือสิ่งสกปรกออก ก่อนวางจำหน่าย โดยจะนำผลผลิตที่ได้ไปวางขายบริเวณหน้าบ้าน รวมทั้งเก็บผลผลิตตามที่ลูกค้าสั่งซื้อมา ซึ่งจำหน่าย ราคากิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในชุมชนและลูกค้าที่ขับรถผ่านแล้วแวะซื้อ และจะแวะเวียนมาซื้อซ้ำด้วยรสชาดที่หวาน กรอบ อร่อย และมั่นใจในคุณภาพผลผลิต อีกทั้งผลผลิตสละอินโดของตนได้ผ่านการรับรองการผลิตพืชปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP (จี เอ พี) จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกด้วย
คุณชวนขวัญ กล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรชาวสวนยางที่สนใจปลูกพืชร่วมยางพาราเพื่อสร้างรายได้เสริมในสวนยางพาราที่โตแล้ว สะละอินโดนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอีกพืชหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ควบคู่ไปกับผลผลิตยางพารา และอาจสร้างรายได้มากกว่าผลผลิตยางพาราที่ราคาไม่แน่นอนเช่นปัจจุบันนี้ก็ได้ หากเกษตรกรสนใจสอบถามเพิ่มเติม โทร 08 1647 1231