ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติมีพันธกิจสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้เป้าหมายความยั่งยืน มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม พัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด และร่วมมือกับชุมชนในการดูแลทรัพยาธรรมชาติ ปตท. จึงได้ริเริ่ม “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ขึ้นในปี 2542 และดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเป็นกำลังใจยกย่องและเผยแพร่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบุคคล กลุ่มคน และเยาวชนให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง
ในปี 2568 ปตท. ได้จัดพิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 23 ขึ้นภายใต้แนวคิด “ปรับเปลี่ยน เรียนรู้ สู่ความยั่งยืน” จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งชุมชนที่เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งมีความเข้มแข็งทั้งจากภายใน และมีพันธมิตรภายนอกที่แข็งแกร่งการ “ปรับเปลี่ยน” วิธีคิด วิถีชีวิต “เรียนรู้” และเปิดรับองค์ความรู้ที่หลากหลาย ผสมผสานทั้งวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น จะสนับสนุนให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตได้อย่าง “ยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว มอบรางวัลลูกโลกสีเขียวให้แก่ชุมชน หรือบุคคลที่มีผลงานโดดเด่นด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) คณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว และเครือข่ายลูกโลกสีเขียวทั่วประเทศ ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 23 ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่
สำหรับผลงานลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 23 ประกอบด้วย 4 ประเภทผลงาน จำนวน 16 รางวัล ดังนี้ ประเภทชุมชน 6 ผลงาน ได้แก่ ชุมชนบ้านหาดปู่ด้าย ตำบลนาแส่ง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ป่าชุมชนบ้านเขาดิน ตำบลวังน้ำลัด อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ชุมชนตำบลตะกาง ตำบลตะกาง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ป่าชุมชนโคกคึมม่วง บ้านนามะเฟือง ตำบลนามะเฟือง อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ป่าชุมชนหมู่บ้านทับทิมสยาม ๐๗ ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ และกลุ่มสะพานไม้บานา ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
ประเภทกลุ่มเยาวชน 4 ผลงาน ได้แก่ โรงเรียนวัดบางน้ำผึ้งนอก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โรงเรียนเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม โรงเรียนน้ำสวยวิทยา ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย กลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าโรงเรียนกาบเชิงวิทยา ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และกลุ่มเยาวชนรักษ์อ่าวทุ่งนุ้ย ชุมชนบ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน 3 ผลงาน ได้แก่ ชุมชนบ้านห้วยลาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ชุมชนบ้านซำหวาย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี และชุมชนบ้านไหนหนัง ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ และประเภทงานเขียน 3 ผลงานได้แก่ รางวัลดีเด่น ได้แก่ ศพของเพื่อนส่งกลิ่นทั่วท้องทะเล โดยพิเชษฐ์ เบญจมาศ รางวัลชมเชย ได้แก่ เฟรมผ้าใบที่ไม่ได้จัดแสดง โดยรสสุคนธ์ สารทอง และกว่างนอกสังเวียน โดยพวงเพชร สุพาวาณิชย์
นอกจากนี้ภายในงานยังเปิดให้ผู้สนใจได้ร่วม “ชม” นิทรรศการผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียวและการบรรยายพิเศษ “ช้อป” สินค้าคุณภาพจากชุมชนเครือข่ายลูกโลกสีเขียวทั่วประเทศ “เชื่อม” ร้อยเครือข่ายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเวทีเสวนาหลักและเวทีเสวนาลานภาค พร้อม “ชวน” ทำกิจกรรมเรียนรู้คุณค่าผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียวตลอดงาน
ปัจจุบันมีผลงานลูกโลกสีเขียวรวมทั้งสิ้น 858 ผลงาน มีเครือข่ายลูกโลกสีเขียวกว่า 5,000 คน ทั่วประเทศช่วยรักษาและขยายพื้นที่ป่าสะสมกว่า 2.47 ล้านไร่ ร่วมสนับสนุนนโยบายและกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 การกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทกำหนดทิศทางการจัดการทรัพยากรระดับพื้นที่ เชื่อมโยงและขยายเครือข่ายการจัดการทรัพยากรในวงกว้าง
รางวัลลูกโลกสีเขียว ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงพลังในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่ชุมชนอื่นทั่วประเทศ แต่ยังเป็นเวทีสำคัญในการเรียนรู้ ปรับตัว ฟื้นฟู ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติให้กลับคืนมาอย่างสมดุล