ในพื้นที่ห่างไกล ยังมีแสงแห่งความหวังเล็ก ๆ ส่องสว่างผ่าน “โครงการอาหารกลางวันในถิ่นทุรกันดาร” ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงมื้ออาหาร แต่ยังเป็นต้นทางของการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเยาวชนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสหธนาคารกรุงเทพฯ บ้านเวียคะดี้ (ตชด.บ้านเวียคะดี้) จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี ในการเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้วิธีปลูกข้าวจากแปลงสาธิตจริง ลงมือทำ และเห็นผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง กลายเป็นข้าวสุกหอมกรุ่นบนโต๊ะอาหารกลางวัน ขณะที่ผู้ปกครองและชุมชนก็ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งในด้านความรู้และความมั่นคงทางอาหาร
ปรัชญา แตรสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี เล่าว่า โครงการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการอาหารกลางวันในถิ่นทุรกันดาร ที่เน้นการส่งเสริมให้นักเรียนในถิ่นทุรกันดารมีความรู้และทักษะด้านการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการปลูกข้าว เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในครัวเรือนและขยายผลในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโรงเรียน ตชด.บ้านเวียคะดี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี ได้วางเป้าหมายสร้างแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวให้กับนักเรียน ครู และเกษตรกรในชุมชน เพื่อให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้บริโภคในโรงเรียน และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะยาว
ทางโรงเรียนใช้พื้นที่เกษตรกรรอบโรงเรียนประมาณ 10 ไร่ เป็นแปลงสาธิตให้นักเรียนเรียนรู้การปลูกข้าว โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่มาโดยตลอด ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรีได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และถ่ายทอดความรู้ด้านการปลูกข้าวตั้งแต่การดำนา ดูแลแปลง กำจัดศัตรูพืช ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครองมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมนี้ดำเนินการต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี โดยในอดีตเคยมีศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรีและศูนย์วิจัยข้าวราชบุรีผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาดูแล ก่อนที่ภารกิจหลักจะถ่ายโอนมายังศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี
พันธุ์ข้าวที่เลือกใช้คือ กข 79 ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่นาน้ำฝนในเขตอำเภอสังขละบุรี เป็นข้าวพื้นนุ่มที่รับประทานอร่อย ให้ผลผลิตดี และสามารถนำไปขยายพันธุ์ได้ต่อในแปลงของเกษตรกร ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งนำไปสีเป็นข้าวสารสำหรับบริโภคภายในโรงเรียนหรือจำหน่ายในชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนในบางโอกาส
ปัจจุบันโรงเรียนยังได้รับการสนับสนุนเครื่องสีข้าวอัจฉริยะที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากกรมการข้าว เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า และเพิ่มความสะดวกในกระบวนการผลิตข้าวครบวงจร ตั้งแต่ปลูก ตาก สี จนถึงบรรจุเป็นข้าวสารพร้อมจำหน่าย โดยมีการนำข้าวสารที่ผลิตในโรงเรียนไปถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และจำหน่ายเป็นรายได้เสริมของโรงเรียนอีกด้วย
“โครงการส่งเสริมแปลงเรียนรู้ข้าวในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ไม่เพียงเป็นต้นแบบของการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารในถิ่นทุรกันดารเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ การพึ่งพาตนเอง และการต่อยอดแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และเกษตรกรในชุมชนต่างมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ของตนเอง” ปรัชญา แตรสังข์ กล่าวทิ้งท้าย