วันที่ 26 มิถุนายน 2568 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่หมู่บ้าน ม.5 บ้านหนองยาง ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด นายภิญโญ ดีหลาย กำนันตำบลชำราก ทหารชุดปฏิบัติการที่ 22 บ้านชำราก หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด ตำรวจ สภ.บ้านท่าเลือน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านหมู่ 5 สถานีอนามัยบ้านชำราก พร้อมเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลชำราก ร่วมทำการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเสมือนจริง การอพยพ การช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หากเกิดสถานการณ์การสู้รบในพื้นที่ชายแดน โดยตำบลชำรากจะมีการซ้อมแผนระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2568



โดยตำบลชำราก เป็น 1 ใน 4 ตำบลของอำเภอเมืองตราด ที่เขตแดนติดกับประเทศกัมพูชา คือ ตำบลชำราก ตำบลท่ากุ่ม ตำบลตะกาง และตำบลแหลมกลัด ทั้ง 4 ตำบล มีสถานที่ราชการ โรงเรียน วัด สถานีอนามัย และบ้านประชาชน ที่มีระยะห่างจากตั้งแต่ 2-15 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งในอดีตชายแดนตราด เคยเกิดสงครามระหว่างเขมรแดงและเวียดนาม มีลูกระเบิดตกลงมาในพื้นที่ประชาชน ทำให้ทิ้งบ้านต้องอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยไปพักอาศัย เรียนหนังสืออยู่ที่นั้นนานหลายเดือน

ทั้งนี้ ทหารชุดปฏิบัติการที่ 22 บ้านชำราก ชี้แจงสถานการณ์ให้ชาวบ้านให้ฟังว่า ปัจจุบันสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ มีการเคลื่อนกำลังทหารของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ทำให้สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาในตอนนี้ ยังคงตึงเครียด ซึ่งซ้อมในครั้งนี้ ต้องการให้ประชาชนรู้ขั้นตอนและเส้นทางการอพยพที่ถูกต้องและปลอดภัย รวมไปถึงลดความสับสน ความตื่นตระหนก หากมีการสู้รบกันจริง เมื่อมีลูกระเบิดลูกแรกลงมาในพื้นที่ ประชาชนต้องรู้ด้วยตัวเองว่าต้องอพยพทันที



ส่วนชาวบ้าน หมู่บ้าน 5 เล่าถึงความทรงจำที่น่ากลัวในอดีตเมื่อปี 2528 ว่า เมื่อก่อนนี้น่ากลัวมาก สมัยที่ยังไม่มีรถยนต์เหมือนทุกวันนี้ การหลบหนีทำได้เพียงอาศัยรถไถที่เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางความหวาดกลัว ภาพในอดีตยังคงชัดเจน เมื่อได้ยินเสียงดังบนท้องฟ้า ก็จะมองเห็นดวงไฟสีแดงเต็มไปหมด ทุกคนต้องรีบวิ่งไปรวมตัวกันในหลุมบังเกอร์ที่เคยมีให้ใช้ในสมัยนั้น และปัจจุบันมีความกังวลในสถานการณ์ เพราะตอนนี้แตกต่างจากในอดีต ชาวบ้านมองว่าเหตุการณ์สู้รบสมัยก่อนเป็นลักษณะความขัดแย้งภายในของประเทศเพื่อนบ้านที่ล้ำข้ามแดนเข้ามา แต่หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นในปัจจุบัน จะเป็นการสู้รบโดยตรงระหว่างกัมพูชากับไทย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะรุนแรงกว่าในอดีต

ด้านนายเตธรรศ รัตนไชย ปลัดอำเภอเมืองตราด กล่าวว่า ในการซ้อมแผนครั้งนี้ ได้มีการดำเนินการในหลายมิติ คือ การเตรียมหลุมหลบภัย มีการสำรวจและเตรียมความพร้อมของหลุมหลบภัยและบังเกอร์ในทุกพื้นที่หมู่บ้านชายแดนทั้ง 19 หมู่บ้าน 4 ตำบล เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับประชาชน โดยบางส่วนที่ชำรุดอยู่ระหว่างการซ่อมแซมปรับปรุง



รวมไปถึงการซ้อมอพยพประชาชนในพื้นที่ตำบลชายแดน เพื่อให้ประชาชนคุ้นเคยและปฏิบัติตามขั้นตอนที่หน่วยงานราชการได้วางไว้ได้อย่างถูกต้อง การรับรู้ของประชาชนและการสื่อสาร ประชาชนในพื้นที่ชายแดนรับรู้ข้อมูลข่าวสารและมีความตื่นตัว โดยทางการได้เน้นย้ำให้รับฟังข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการ คือ ผู้นำท้องที่และท้องถิ่น (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นหลัก เพื่อป้องกันความสับสนและความตื่นตระหนก และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเมื่อได้รับการแจ้งเตือน

นอกจากการซ่อมแซมหลุมหลบภัยที่มีอยู่เดิมให้พร้อมใช้งานแล้ว ทางอำเภอได้มอบหมายให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อหาจุดที่จำเป็นต้องสร้างหลุมหลบภัยเพิ่มเติม จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลเพื่อประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดหางบประมาณและดำเนินการก่อสร้างต่อไป

สำหรับตำบลชำราก ตำบลท่ากุ่ม ตำบลตะกาง และตำบลแหลมกลัด ยังคงมีการซักซ้อมแผนอพยพต่อเนื่อง ไม่ได้ซ้อมเพียงครั้งเดียว แต่จะซ้อมแผนตามความเหมาะสม เพื่อให้ชาวบ้านมีความคุ้นชิน ไม่แตกตื่น เพื่อความปลอดภัยให้มากที่สุด