กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2568” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็ก เยาวชนและประชาชนเกิดความตระหนักรับรู้ในคุณค่าและความสำคัญ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในชุมชนของตนเอง เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนให้มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน และเพื่อส่งเสริมและต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เกิดประสิทธิผลกับชุมชนเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้คัดเลือกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งหมด 11 รายการ 4 ภูมิภาค สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ 1.สังข์ศิลป์ชัย จังหวัดขอนแก่น 2.ผ้าทอผู้ไท จังหวัดกาฬสินธุ์ 3.เอ็งกอ จังหวัดอุดรธานี
นางสาวกิตติพร ใจบุญ ผู้อำนวยการกองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของชุมชนมาช้านาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เช่น โบราณสถาน เมืองเก่าสุโขทัย กับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องทักษะ ความรู้ การแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีการปฏิบัติและสืบทอดกันมา เช่น ประเพณี พิธีกรรม หรือผ้าทอ ถือเป็นมรดกที่ยังมีชีวิตอยู่ในตัวคนและได้รับการสืบทอดมาโดยตลอด
พระครูบุญชยากร วัดไชยศรี เจ้าคณะตำบลสาวะถี เขต 1 ในฐานะเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “สังข์ศิลป์ชัย จังหวัดขอนแก่น” กล่าวถึงนิทานสังข์ศิลป์ชัยว่า ได้มีการฟื้นฟู 3 ช่วง คือ ช่วงฟื้นฟู ช่วงดูแลรักษา และช่วงต่อยอด ใช้เวลากว่า 30 ปี แบ่งออกเป็นช่วงระยะเวลาละ 10 ปี โดยนิทานสังข์ศิลป์ชัย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะมีความเชื่อมโยงกับทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ดังเช่นในหลักธรรมทางศาสนา โดยปรากฏอยู่มานานมากแล้ว เป็นของคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่อดีต
อย่างไรก็ตาม นิทานสังข์ศิลป์ชัย มีช่วงเสื่อมถอยลงไปบ้างคือในปี 2532-2533 เนื่องจากวัดทรุดโทรม ไม่มีชาวบ้านมาทำบุญ ไม่มีการบำรุงรักษาวัด สถาปัตยกรรมถูกละเลย แต่ยังมีสิ่งที่เหลืออยู่คือภาพวาดสังข์ศิลป์ชัย จึงได้เริ่มฟื้นฟูจากการปลุกจิตวิญญาณ เริ่มค้นหาข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่ ศึกษาตำราในหมู่บ้าน สร้างคุณค่าร่วมกันให้เกิดความรักความหวงแหนภายในชุมชน ตั้งแต่นั้นมาชุมชนก็ร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาวัดและชุมชนไปด้วยกันให้กลายเป็นวิถีชีวิต ถือเป็นการทำงานพัฒนาทั้งรูปธรรมและนามธรรมไปด้วยกัน พร้อมย้ำว่าชื่อ "สังข์ศิลป์ชัย" มาจากการตกลงของชุมชนเอง ไม่ได้มาจากภายนอก และในชุมชนจะใช้คำว่า "สิน" ในการเรียกนิทานพื้นบ้านนี้ โดยเห็นว่าการใช้คำที่คุ้นเคยจะช่วยให้เข้าใจง่าย นำไปใช้เชิงสัญลักษณ์เพื่อพัฒนาคนต่อไป
ขณะที่ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพ์พะกรรณ์ อดีตอาจารย์ประจำสายวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ก่อตั้งแหล่งเรียนรู้โฮงสินไซ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม "สังข์ศิลป์ชัย" เกิดขึ้นจากการศึกษาอย่างจริงจังของพระครูบุญชยากร ตั้งแต่ปี 2549 และการจัดพิมพ์เป็นเอกสารในสารวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีความสมบูรณ์มาก พระครูบุญชยากรถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีซึ่งก่อนที่จะมาเป็นนิทานสังข์ศิลป์ชัยในปัจจุบัน ก็ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน พร้อมศึกษาและต่อยอดเรื่องนี้โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน รวมถึงขณะนี้ก็มีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ทั้ง ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจมากขึ้น เป็นการสืบทอดและเผยแพร่อีกทางหนึ่งด้วย
นางสวาท คูสกุลรัตน์ อดีตประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเขาวง ในฐานะเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ผ้าทอผู้ไท จังหวัดกาฬสินธุ์” กล่าวถึงความเป็นมาของผ้าทอผู้ไทว่า ได้สัมผัสมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่จำความได้ โดยได้ค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์ของผู้ไท พบว่า วิถีชีวิตในอดีตมีการปลูกฝ้าย ปลูกพริก และทำมาหากินด้วยมือ ส่วนผู้หญิงทุกคนต้องทอผ้าและเข็นฝ้ายเป็น เพื่อให้ครอบครัวมีผ้านุ่งผ้าห่ม เพราะผ้ามีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของคนผู้ไท ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยใช้เป็นผ้าอ้อม ผ้าปรกหน้า ผ้าห่อศพ และเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งงาน สะท้อนถึงความเข้มแข็งของผู้หญิงในการทอผ้า
ด้านนายประพันธ์ เวียงสมุทร นักออกแบบ กล่าวว่า ในฐานะที่มาจากสายภาพยนตร์ ได้มองเห็นช่องว่างทางการตลาดในการทำเสื้อผ้าผู้ไท จึงนำศาสตร์ทางภาพยนตร์มาใช้ในการออกแบบ โดยเริ่มจากการหาแนวคิดหลักคือ "เมืองผู้ไท" และแนวคิดย่อยคือ "โหยหา" ซึ่งนำไปสู่การค้นหาอัตลักษณ์ของผ้าทอผู้ไททั้งฝ้ายและไหม จึงได้เริ่มการต่อยอดชักชวนคนในชุมชนทำผ้าฝ้าย เนื่องจากเห็นว่าการปลูกฝ้ายกำลังจะหายไป จนได้ต่อยอดเรื่องของการออกแบบ จนได้รับความสนใจจากคนทุกจังหวัดที่ใส่ผ้าทอผู้ไทด้วยความภูมิใจ พร้อมระบุว่า การต่อยอดผ้าผู้ไทควรมี 2 ประเด็นหลัก คือ การต่อยอดวิถีดั้งเดิมที่ทรงคุณค่าและการต่อยอดประยุกต์ให้คนภายนอกสามารถซื้อและใช้ได้ เพื่อให้ทุกคนนำไปสวมใส่หรือใช้ได้หลายสถานการณ์ โดยไม่ยึดติดกับตำราและความเชี่ยวชาญทางวิชาการแบบเดิม เน้นไปที่การประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการนำลาย ภูเขาดอกฝ้ายไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้มากขึ้น ทั้งนี้จากการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนหญิงเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อผ้าทอผู้ไท และความต้องการหากจะใส่ผ้าทอผู้ไทในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้รับคำตอบว่า รู้สึกภูมิใจ แต่ต้องการรูปแบบที่เข้ากับยุคสมัย ใส่สบาย และอาจนำลวดลายมาปรับใช้กับเสื้อผ้าแบบใหม่ด้วย พร้อมสนับสนุนให้ เน้นเรื่องการผลิตและเชื่อมโยงการผลิตไปสู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผ้าฝ้ายให้มากขึ้นอีกด้วย
ว่าที่พันตรีฉัตรวัชระ เสนะบุตร์ ครูโรงเรียนบ้านนาเก็น กล่าวถึง การแสดงเอ็งกอ จังหวัดอุดรธานี ว่า เอ็งกอมีความเป็นมา ที่มีการศึกษามาจากวรรณกรรมจีนที่มีชื่อว่า "สุยหูจ้วน" หรือภาษาไทยคือ "ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน" (ซ้อกัง) วัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์คือต้องการให้เกิดคุณธรรมภายในจิตใจของผู้อ่าน นำเรื่องราวจากชีวิตจริงของคนในสมัยราชวงศ์ซ่ง 36 คน มาร้อยเรียงแต่งเป็นเรื่องราว โดยนักเล่านิทานในสมัยราชวงศ์หยวน จนกลายเป็นเรื่องราวของคนทั้งหมด 108 คน ให้รู้จักว่าคนไหนคือคนดี คนไหนคือคนไม่ดี รู้จักการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นการแสดงงิ้วที่มีการระบำหน้ากากเข้ามาผสมผสาน จนถึงสมัยราชวงศ์หมิง มีการถ่ายทอดเป็นศิลปะการแสดงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยในประเทศไทย อาจารย์คอซัวได้นำศิลปะการแสดงนี้เข้ามาสอนแก่ชาวบ้านในจังหวัดอุดรธานี จนกำเนิดเป็นคณะเอ็งกอในปี 2511 ซึ่งตนเองได้ซึมซับเอ็งกอเข้าไปในวิถีชีวิตเรื่อยมา
ตลอดระยะเวลาที่ทำการแสดง คณะเอ็งกอได้พยายามปรับรูปแบบการแสดงให้แปลกใหม่ เพิ่มความสนุกสนานให้มากขึ้น โดยอาศัยรากฐานเดิมที่ได้รับการต่อยอดเรื่อยมา ซึ่งสิ่งที่ปรับ มีตั้งแต่เทคนิคการแสดง การผสมผสานดรตรีประเภทกลอง การต่อสู้ของพะบู๊ที่มากขึ้น การแปรแถว การจัดระเบียบการแสดง การแต่งกาย โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากคนในคณะที่ได้ออกแบบการแปรแถวให้มีความสวยงามมากกว่าเดิมอีกด้วย แต่สิ่งที่สำคัญคือ การรำกระบองยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับการสืบทอดมาจากอาจารย์คอซัวโดยตรงตั้งแต่ปี.2511 โดยวัตถุประสงค์ของการพัฒนาคือ สืบและต่อยอด พัฒนาให้เข้ากับบริบทสังคมในรูปแบบใหม่ นอกเหนือจากการแสดงในขบวนแห่และพิธีกรรม และปัจจุบันได้แบ่งคณะเป็น ขนาด SML (เล็ก / กลาง / ใหญ่) เพื่อให้สามารถไปร่วมพิธีเปิดงาน ร่วมกิจกรรม หรือช่วยงานวัดต่างๆ ได้ รวมถึงงานขนาดใหญ่ อย่างงานประชุมพืชสวนโลกอีกด้วย
ขณะที่ ศ.ดร.ชวลิต อธิปัตยกุล ประธานหลักสูตรศิลปกรรมพื้นถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า คณะเอ็งกอจังหวัดอุดรธานีมีความเข้มแข็งในตัวอยู่แล้ว เพราะโดดเด่นและแตกต่าง โดยนักศึกษาจีนยังแปลกใจว่าการแสดงแบบนี้ไม่ปรากฏที่จีนแต่กลับมีที่จังหวัดอุดรธานี รวมถึงมีคณะจากมณฑลกวางตุ้งขอดูงานที่จังหวัดอุดรธานีด้วย ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสามารถผลักดันให้คณะเอ็งกอมีความโดดเด่นชัดเจนได้ต่อไปอีกอย่างไรบ้าง พร้อมระบุว่า เรื่องการแสดงและการคงอยู่ต่อไปไม่น่าเป็นห่วง เพราะตราบใดที่ยังมีกิจกรรมและประเพณีในพื้นที่ การแสดงเอ็งกอจะไม่สูญหายและยังมีผู้สืบทอด ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากศาลเจ้าปู่ย่า แต่สิ่งที่ประเด็นสำคัญคือการส่งเสริมมากกว่า
ส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัยนั้น ศ.ดร.ชวลิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พูดคุยแนะนำแนวทางการทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนความต่อเนื่อง ตามขอบเขตงานของมหาวิทยาลัยคือการสนับสนุนข้อมูลเท่านั้น พร้อมเน้นย้ำว่า งานด้านวัฒนธรรมคือวัฒนธรรม ที่ควรแยกออกจากเรื่องปากท้องหรือการแสวงหาผลประโยชน์ พร้อมย้ำว่าการทำงานแบบ “3 ส.” คือ “สืบสาน ส่งเสริม และสร้างสรรค์” จะทำให้วัฒนธรรมไม่มีทางล่มสลายลงไปได้
ด้าน ผศ.ณรงค์ จันใด หัวหน้าโครงการบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจะทำให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 3 รายการ ได้รับการสืบทอดอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้คนในพื้นที่ รู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่จังหวัดตนเองมี ต้องใช้ ต้องเข้าใจและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามามีส่วนในการส่งเสริม สนับสนุนตามบทบาทของตนเอง รวมถึงการนำอินฟูเอนเซอร์เข้ามามีบทบาท ในการเผยแพร่เนื้อหาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างและช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตได้เช่นกัน