ดูได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วไทย ในช่วงเช้ามืด ทั้งชม “ดาวเคียงเดือน” ส่งท้ายเดือนม.ค. ดาวพฤหัสฯจะเคียงข้างดวงจันทร์ จากนั้น 1 ก.พ. ดวงจันทร์ จะเคลื่อนไปอยู่เคียงข้างดาวศุกร์ นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ก.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า สิ้นเดือนม.ค.นี้มีปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่น่าติดตามในช่วงเช้ามืด วันที่ 31 ม.ค.62 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้าเคียงข้างดวงจันทร์ แรม 10 ค่ำ ห่างกันประมาณ 2.6 องศา หลังจากนั้น วันที่ 1 ก.พ.62 ดวงจันทร์ แรม 11 ค่ำ จะเคลื่อนลงมาปรากฏอยู่ใกล้ดาวศุกร์ ห่างกันประมาณ 2.7 องศา (การวัดระยะเชิงมุมท้องฟ้า ใช้มือเหยียดสุดแขนขึ้นบนฟ้า ระยะ 2 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วโป้ง) ดาวเคียงเดือนทั้งสองครั้งสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.45น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวหากท้องฟ้าใสไร้เมฆหมอก เรายังสามารถสังเกตเห็น “ปรากฏการณ์แสงโลก” (Earth Shine) สวยงามมาก เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบผิวโลก สะท้อนไปยังดวงจันทร์ ทำให้ ผู้สังเกตบนโลกพบว่าส่วนมืดของดวงจันทร์นั้นไม่ได้มืดสนิท จึงขอเชิญชวนผู้สนใจตื่นเช้าชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ภาพโดย :ศรัณย์ โปษยะจินดา