โคราช รฟท.แจง รถไฟไฮสปีดเสร็จไม่ทันพืชสวนโลก รถไฟทางคู่เพิ่มงบกว่า 8 พันล้าน เสร็จปี 74

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุรพันธ์  ศิลปสุวรรณ รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ 3/2568 โดยมีนายแพทย์วรรณรัตน์  ชาญนุกูล นายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา พร้อมนายสุรวุฒิ  เชิดชัย อดีตนายก ทน.นครราชสีมา ในฐานะกรรมการ บริษัท รถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำกัด และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งภาคประชาชนเข้าร่วมโดยพร้อมเพียงกัน

ในระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่อง (การดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา) ผู้แทน รฟท.ชี้แจงความคืบหน้าโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 251 กิโลเมตร ผลงานสะสมทั้งโครงการ 44.66 % ช้ากว่าแผน 16.03 % ส่วนสัญญา 3-5 โคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. ผลงาน  13.012 % เพิ่มขึ้น 0.49 % เนื่องจากมีประเด็นขอแก้ไขรูปแบบก่อสร้างคันทางระดับดินเป็นทางยกระดับ (Elevated) ตามแนวทางที่ 4 ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด ยกระดับ 7.85 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่ม 350 วัน ล่าสุดมติเห็นชอบการขออนุมัติปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง 2,052 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณารายงานเสนอคณะกรรมการบริหารการพัฒนา โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่าง ไทย–จีน และ ครม.พิจารณา กำหนดแล้วเสร็จเฉพาะงานโยธาช่วงเดือนมีนาคม 69 และเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบประมาณปี 2572 

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เส้นทางผ่านตัวเมืองนครราชสีมา สถานะล่าสุดที่ปรึกษาได้จัดส่งรายละเอียดการปรับรูปแบบให้ รฟท.ดำเนินการพิจารณาและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นขออนุมัติโครงการรวมทั้งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องเพิ่มวงเงินกว่า 8 พันล้านบาท หลักการเริ่มยกระดับผ่านสถานีรถไฟโคกกรวดถึงสถานีชุมทางถนนจิระ โดยทางตัดผ่านแยกถนนไชยณรงค์และถนนเบญจรงค์ ระดับความสูงกว่า 5 เมตร แล้วลดระดับก่อนถึงสะพานสูงหัวทะเล

กรณีการประชุม อจร.นครราชสีมา ครั้งที่ 1/2568 มติขอความอนุเคราะห์ รฟท.พิจารณาจัดขบวนรถไฟ เที่ยวพิเศษอำนวยความสะดวกและบริการนำนักท่องเที่ยวและประชาชนมาร่วม “มหกรรมพืชสวนโลก นครราชสีมา พ.ศ 2572 ที่ อ.คง เนื่องจากโครงการเสร็จไม่ทัน ล่าสุดอยู่ระหว่างนำเสนอให้บอร์ด รฟท.พิจารณา เบื้องต้นคาดใช้ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศให้บริการ กรุงเทพ-ชุมทางบัวใหญ่ ระยะทางประมาณ 365 กิโลเมตร ไป-กลับวันละ 1 เที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง  

ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมนายสุรพันธ์  จันทรประภา พร้อมพวกในฐานะเจ้าของทรัพย์สินที่ดินเอกชนริมถนนจอมสุรางค์ยาตร์ บริเวณห้าแยกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โคราช ได้ยื่นหนังสือกับนายสุรพันธ์ รอง ผวจ.นครราชสีมา กรณีที่ดินส่วนใหญ่ในบริเวณดังกล่าว รฟท.ได้รังวัดเวนคืนและจ่ายค่าชดเชย เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ ฯ -นครราชสีมา แต่ยังมีส่วนที่เหลือจำนวนหลายแปลง เนื้อที่รวมกว่า 300 ตารางวา อยู่นอกเขตเวนคืนไม่สามารถใช้ทำประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบธุรกิจต่อไปได้ ปัจจุบันจึงมีสภาพเป็นอาคารร้างและที่ว่างเปล่า จึงขอความอนุเคราะห์ให้ รฟท.พิจารณาซื้อที่ดินส่วนที่เหลือนี้ เพื่อใช้ประโยชน์การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองรวมทั้งช่วยแก้ปัญหาจราจรแอดอัด ซึ่งมติ อจร.นครราชสีมา เห็นชอบให้ดำเนินการตามความเหมาะสม