วันที 19 มิถุนายน 2568 ลีดเดอร์ชิพโพลล์ วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง  “มุมมองต่อสถานการณ์ชายแดน (ไทย–กัมพูชา)” จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,500 คนทั่วประเทศ ผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่าง วันที่ 12–18 มิถุนายน 2568 โดยสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกห่วงกังวลของสังคมต่อความขัดแย้งชายแดน ตลอดจนความไม่เชื่อมั่น ในศักยภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนนี้

จากผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่จำนวนมากถึงร้อยละ 60.13 ระบุว่า "ไม่มีความเชื่อมั่นเลย" ว่านายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะสามารถจัดการปัญหาข้อพิพาทชายแดนกับกัมพูชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่อีกร้อยละ 23.47 ก็ระบุว่า "ไม่ค่อยเชื่อมั่น" โดยมีเพียงส่วนน้อยคือร้อยละ 7.93 ที่ "ค่อนข้างเชื่อมั่น" และเพียงร้อยละ 1.07 เท่านั้นที่  "เชื่อมั่นสูง" ในศักยภาพของรัฐบาล ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายเชิงภาวะผู้นำที่นายกรัฐมนตรีต้องเผชิญท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงระหว่างประเทศ 

ในทางกลับกัน กองทัพไทยกลับได้รับความเชื่อมั่นในระดับสูงจากประชาชน โดยร้อยละ 59.73 ระบุว่ามี "ความเชื่อมั่นสูง" ว่ากองทัพจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ชายแดนในครั้งนี้ได้ ขณะที่อีกร้อยละ 30.27 "ค่อนข้างเชื่อมั่น" ซึ่ง ต่างจากความรู้สึกที่มีต่อฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน ในประเด็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ประชาชนร้อยละ 55.80 เสนอว่าไทยควรใช้การเจรจาทวิภาคีกับกัมพูชา ขณะที่ร้อยละ  27.93 สนับสนุนความร่วมมือผ่านกลไกอาเซียน และมีเพียงร้อยละ 6.87 ที่เห็นว่าควรยื่นเรื่องต่อศาลโลก (ICJ) 

ประชาชนยังแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบจากความตึงเครียดบริเวณชายแดน โดยร้อยละ 39.87 เห็นว่ามีผลกระทบ "มาก" ต่อการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว และร้อยละ 35.20 เห็นว่ากระทบ "พอสมควร" สอดคล้องกับข้อค้นพบที่ว่า ร้อยละ 68.73 ของประชาชนรับรู้ถึงการ "ปลุกกระแสชาตินิยม" จากทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา 

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ของประชาชนสองฝั่งชายแดน ร้อยละ 60.00 เห็นว่ามีความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ "แน่นแฟ้นพอสมควร" อีกทั้งยังมีประชาชนถึงร้อยละ 41.33 ที่ต้องการให้อาเซียนเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยในกรณีพิพาทนี้ ในขณะที่อีกร้อยละ 38.20 เห็นว่าอาเซียนควรมีบทบาทเฉพาะเมื่อสถานการณ์รุนแรงเท่านั้น 

สุดท้าย เมื่อประเมินความมั่นใจของประชาชนว่าไทยจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศในกรณีพิพาทชายแดนครั้งนี้ได้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 36.27 "ค่อนข้างมั่นใจ" และร้อยละ 16.20 "มั่นใจสูง" ขณะที่อีกร้อยละ 29.53 "ไม่ค่อยมั่นใจ" และร้อยละ 11.00 "ไม่มีความมั่นใจเลย"

 

ผลสำรวจนี้ สะท้อนถึงความกังวลของสังคมอย่างมาก ความท้าทายของรัฐบาลในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชน ภายใต้สถานการณ์ที่มีทั้งความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ และความเปราะบางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

ผลสำรวจของลีดเดอร์ชิพโพลล์ สะท้อนวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร อย่างชัดเจน ขณะที่กองทัพกลับได้รับความ ไว้วางใจสูงกว่ามาก ซึ่งยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่อ่อนแอในวิกฤตการณ์นี้ ความไม่ไว้วางใจนี้ยิ่งรุนแรงขึ้นจากคลิปเสียง สนทนาระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับสมเด็จฮุนเซนที่หลุดออกมาท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังอ่อนไหว ทางการเมืองในทุกมิติ ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความชัดเจนของท่าทีรัฐบาลและความโปร่งใสในการเจรจาระหว่างประเทศ

การที่ประชาชนส่วนใหญ่เสนอให้ใช้การเจรจาทวิภาคี สะท้อนความคาดหวังต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสุขุมรอบคอบ ความท้าทายที่ซับซ้อนสำหรับผู้นำของนายกแพทองธาร โดยเฉพาะภาพลักษณ์และวุฒิภาวะการเป็นผู้นำ ซึ่งกำลังส่งผลต่อความชอบธรรมของรัฐบาลที่กำลังสั่นคลอนจากความรู้สึกไม่มั่นใจของประชาชนต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ในเวทีระหว่างประเทศ