ฝากความหวังผอ.สกสค.จังหวัดรุ่นใหม่ เป็นที่พึ่งของครูได้ "พิษณุ" จี้สำรวจเชิงลึกหนี้ครู-เล็งนำดอกผลจากบัญชีฝากประจำของ สกสค.ที่มีอยู่ 100 ล้านปล่อยกู้แก้ปัญหา ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน สกสค.ได้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้ง ผอ.สำนักงาน สกสค.จังหวัด/กรุงเทพฯ แทนผู้ที่พ้นวาระ โดยมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกไป เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตนได้ให้นโยบายและฝากความหวังว่า ผอ.สกสค.จังหวัดรุ่นใหม่นี้ จะปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลครู และกอบกู้ภาพลักษณ์ขององค์กร เพื่อเรียกศรัทธาของครู และสาธารณชนกลับมา ที่สำคัญต้องทำให้ สกสค.จังหวัด เป็นอีกองค์กรหนึ่งในจังหวัด ที่ทุกคนรู้จัก มีความเชื่อ และศรัทธาว่าสามารถดูแลครูและเป็นที่พึ่งของครูได้อย่างแท้จริง ดร.พิษณุ กล่าวต่อไปว่า หน้าที่สำคัญของ ผอ.สกสค.จังหวัด ที่นอกเหนือจากเป็นตัวแทน สกสค.ไปมอบเงินให้แก่ครอบครัวสมาชิกเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ต้องดูแลช่วยเหลือครูที่มีปัญหา ซึ่งเป็นการดูแลสวัสดิภาพของครู โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครู ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ ผอ.สกสค.ต้องเข้าไปดูแล ซึ่งได้มอบหมายให้ทุกจังหวัด ได้มีการทำการสำรวจเชิงลึก เร่งสำรวจหนี้สินครูอย่างละเอียด เพื่อจะได้แก้ปัญหาภาพรวมทั้งประเทศ เนื่องจากขณะนี้พบว่า ครูที่เป็นหนี้จำนวนมากมีประมาณ 70,000- 80,000 คน ซึ่งก็ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ดังนั้น ต้องหาตัวเลขที่ชัดเจนให้ได้ แล้วมาจัดกลุ่มช่วยเหลือ โดยมุ่งไปที่คนที่อยู่ในภาวะวิกฤติ กำลังจะถูกฟ้องล้มละลายก่อน เพราะหากครูถูกฟ้องล้มละลายก็หมายความว่าต้องออกจากราชการ "ขณะนี้จำนวนครูที่เป็นหนี้วิกฤติ มีเพิ่มขึ้นเป็น 10,000-30,000 คน จากฐานเดิมที่ค่าเฉลี่ยเป็นหนี้อยู่ที่ 2 ล้านบาทต่อคน วันนี้ขยับไปเป็นเกือบ 3 ล้านบาทแล้ว จึงต้องสำรวจ และวิเคราะห์กันใหม่ เพื่อหากลุ่มเป้าหมายในการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง และเร็วที่สุดหลัง อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะช่วยเหลือครูนั้น ตนมีความคิดว่าตอนนี้ สกสค.มีบัญชีเงินฝากประจำอยู่ 100 กว่าล้านบาท ถ้าเอาเงินส่วนนี้มาปล่อยให้ครู ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะวันนี้ดอกเบี้ยที่ฝากอยู่ก็ไม่มากนัก แต่ต้องตรวจสอบประวัติครูให้ดี และต้องมีเงื่อนไขป้องกันการก่อหนี้เพิ่ม" ดร.พิษณุ กล่าว