เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568 นายพรศักดิ์ สุวรรณ นักกฎหมายอิสระ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีรับจ้างเป็นที่ปรึกษาแผนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ซึ่งอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหลายฉบับ ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอนของสำนักงานฯ ต่อไป
โดย นายพรศักดิ์ สุวรรณ นักกฎหมายอิสระ เปิดเผยว่า “กรรมการ กสทช. เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลทรัพยากรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะของประเทศ และเป็นตำแหน่งที่มีค่าตอบแทนที่สูงมาก จึงจำเป็นต้องยึดถือคุณธรรมและจริยธรรมในระดับสูงสุด การรับงานอื่นจากหน่วยงานรัฐ ไม่เพียงขัดกับข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ยังสร้างความสงสัยต่อความเป็นอิสระของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระด้วย โดยพฤติการณ์ของ ดร.พิรงรองฯ อาจมีความผิดทางกฎหมายในหลายประเด็น จึงขอเรียกร้องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อยืนยันหลักนิติธรรม สร้างบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการคุ้มครองความเป็นกลางขององค์กรอิสระ และยับยั้งไม่ให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ”
นอกจากนี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า “แม้กรณีนี้จะเคยปรากฏเป็นข่าวสาธารณะ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรง ทั้งที่เรื่องนี้อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของรัฐและหลักความเป็นธรรมในสังคม การร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบดำเนินไปอย่างโปร่งใส ทั้งต่อสาธารณชนที่จะได้ทราบข้อเท็จจริง และต่อ ดร.พิรงรองฯ เอง ซึ่งจะได้มีโอกาสชี้แจงข้อกล่าวหาผ่านกระบวนการขององค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง”
ประเด็นทางกฎหมาย 4 ด้านที่ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบ มีดังนี้ ประเด็นที่ 1 ขัดคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 8 (2): ห้ามกรรมการ กสทช. ดำรงตำแหน่งลูกจ้างหรือที่ปรึกษาในหน่วยงานของรัฐ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมถือเป็นหน่วยงานรัฐ การรับตำแหน่งดังกล่าวจึงอาจขัดต่อข้อห้ามนี้ และเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 20 (5)
ประเด็นที่ 2 ฝ่าฝืนมาตรา 26 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา: กฎหมายกำหนดให้กรรมการ กสทช. ต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา การรับงานอื่นควบคู่กับตำแหน่งจึงอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่หลัก และขัดต่อหลักจริยธรรมและความไว้วางใจของสาธารณชน
ประเด็นที่ 3 อาจฝ่าฝืนมาตรา 128 ของ พ.ร.ป. ป.ป.ช.: กฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่ตามธรรมจรรยาในกรอบที่ ป.ป.ช. อนุญาต ซึ่งการรับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐในลักษณะนี้อาจไม่อยู่ในข่ายข้อยกเว้น และเข้าข่ายต้องห้ามตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 4 อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157: การใช้เวลาราชการ หรือสถานะหน้าที่ในตำแหน่งเพื่อกระทำการใดที่เอื้อประโยชน์ส่วนตน อาจเข้าข่าย “ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา
ในการนี้ นายพรศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องของตัวเงิน แต่เป็นเรื่องของหลักการ ความเหมาะสม และมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หากไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ย่อมอาจสร้างแบบอย่างที่เป็นอันตรายต่อกลไกรัฐ และบ่อนทำลายศรัทธาของประชาชนต่อระบบตรวจสอบถ่วงดุลในระยะยาว”
ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนแนบเอกสารประกอบอย่างครบถ้วน ได้แก่ สำเนาข่าวจากสื่อมวลชน เอกสารประกาศแต่งตั้งกรรมการ กสทช. โครงสร้างหน่วยงานรัฐ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำอธิบายจาก ป.ป.ช. ว่าด้วยแนวทางการรับทรัพย์สินโดยธรรมจรรยา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.