วันที่ 16 มิ.ย. 68 เมื่อเวลา 12.00 น. ที่บ้านพิษณุโลก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วยว่า ในที่ประชุมเห็นตรงกันว่าการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (JBC) เป็นผลสำเร็จที่ได้พูดคุยกัน และยอมรับกรอบการประชุม และตนพูดคุยทุกระดับ ทั้งหน้างานจนถึงนายกฯ พูดคุยติดต่อสื่อสารอย่างต่อเนื่อง วันนี้ที่ประชุมมีเรื่องการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อติดตามสถานการณ์เป็นทีมไทยแลนด์

โดยจะให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม เป็นคนนำทีมมอนิเตอร์ข้อมูลข่าวสารทั้งหมด เพื่อดำเนินการต่างๆ และยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก โดยตอนนี้มีการตั้งทีมทำงานว่า เราจะปกป้องและตั้งรับอย่างไร และหาข้อมูลต่างๆว่าจะสามารถปกป้องประเทศหรือตอบโต้อะไรยังไงบ้าง เราต้องมีกรอบในการทำงาน ตอนนี้เราศึกษาในเรื่องกฎหมาย และประวัติความเป็นมา มีข้อมูลครบแล้ว 

เมื่อถามว่ากรณีสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ประกาศจะปิดด่านชายแดนทุกด่าน ในที่ประชุมได้หารือเรื่องนี้หรือไม่ น.ส.แพทองธาร ตอบว่า เรื่องการปิดด่าน ยืนยันว่า เราไม่ได้ปิด เพียงแต่กำหนดเวลาการเปิด-ปิด เปลี่ยนไปจากเดิม และเราได้ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้กองทัพเป็นผู้ดูสถานการณ์ ยืนยันว่าเราได้มีการพูดคุยตลอด

โดยตนคุยกับพล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ตกลงความเห็นร่วมกันว่า เราต้องการสันติภาพระหว่างสองประเทศ ไม่ต้องการความขัดแย้ง ต้องการรักษาชีวิตของประชาชน รวมถึงไม่ต้องการให้เสียเลือดเนื้อของทหารทั้งสองประเทศ คือสิ่งที่เห็นตรงกันและพูดคุยกันมาเรื่อยๆ และตนพยายามให้อยู่ในกรอบทวิภาคีที่ทุกประเทศ 

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อมีการสื่อสารกันเราต้องมีกรอบความเข้าใจร่วมกัน แน่นอนว่าการพูดคุยกันหลังไมค์ โดยตกลงกันว่าจะทำอะไร แต่สิ่งที่สื่อสารออกมาทางโซเชียลนอกกรอบ เป็นการสื่อสารที่ไม่มืออาชีพ ทำให้เกิดความวุ่นวายในการจัดการ ทั้งสิ่งที่คุยกันหลังไมค์ และอย่างเป็นทางการ  คิดว่าการสื่อสารแบบนี้ ทำให้เกิดผลลบกับทั้งสองประเทศ ข้อความที่ทางกัมพูชาได้โพสต์เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งไทยและกัมพูชาด้วย การที่จะประกาศเรื่องการปิดด่านเลย หรือใดๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งสองประเทศ เราห่วงใยทั้งเรื่องการค้าขายตรงนั้น  ถ้ามีการปิดด้านทั้งหมด มันก็กระทบ เราถึงไม่มีการปิดด่าน แต่เราปรับเวลา

“ดิฉันได้แจ้งทางกัมพูชาว่า ดิฉันจะมีการประชุมในวันนี้ก่อน เพื่อรายงานผลว่าเราจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งดิฉันเองได้ส่งข้อความถึงนายกฯกัมพูชา เสนอให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ซึ่งเป็นการประชุมระดับกองทัพของทั้งสองประเทศ ให้พูดคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปแต่ว่าเพิ่งส่งไป และได้เห็นข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กถือเป็นการสื่อสารที่ไม่อยู่ในกรอบ” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า ปฏิกิริยาหลังการประชุม JBC ไทยพยายามใช้วิธีเจรจาแบบทวิภาคี แต่เหมือนกัมพูชาไม่มีความจริงใจในการพูดคุ ย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การประชุม JBC  เราประชุมด้วยกันทั้งคู่ ถือเป็นผลสำเร็จ ถือว่ายอมรับกรอบนี้ คือกรอบของ JBC นั่นคือการประชุมร่วมกัน และเราต้องการสันติภาพร่วมกัน จะทำอย่างไรได้บ้างให้เกิดขึ้น ในเรื่องของ JBC คิดว่าไม่มีปัญหาอะไรอย่างที่กระทรวงต่างประเทศแถลง ในเนื้อความทุกอย่างเราได้ชี้แจงแล้ว ไม่ได้ติดขัดหรือพลิกล็อกอะไร

เมื่อถามว่า ตอนนี้กัมพูชากำลังเล่นสงครามข่าวสารจะมีการรับมืออย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนบอกแล้วว่าการสื่อสารแบบนี้ไม่ได้เกิดผลดีกับทั้งสองประเทศ การปล่อยข่าวและข่าวที่ออกมาหลายๆข่าวได้มีการตกลงกันแล้วว่าอย่าเพิ่งปล่อยข่าว เพราะเราจะต้องคุยกันก่อนว่าจะเอาอย่างไร เพราะคนที่อยู่หน้างานกับคนที่รับฟังข่าวสารเป็นคนละคนกัน 

นายกฯ กล่าวว่า ฉะนั้นเราจะทำอะไร ตัดสินใจอย่างไร สัมภาษณ์อะไรออกไป ก็ขอให้เห็นใจคนหน้างานด้วย ที่เกิดขึ้นที่มีการบอกว่าให้สู้เลยๆ เราต้องดูคนหน้างานด้วยว่าตรงนั้นเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งตนก็ต้องคอยอัพเดตว่าเกิดอะไรขึ้น ณ ตอนนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง 

“การที่เรากำหนดเวลาเปิด-ปิดด่านใหม่ ในตอนแรก เป็นเพราะว่ามีอาวุธหนัก อาวุธใช้ระยะไกล เริ่มมีจำนวนมากขึ้น เราจึงต้องมีกำหนดเวลาเปิด-ปิดด่าน เพราะมีประชาชนทั้งสองประเทศอยู่บริเวณดังกล่าวจำนวนมาก การที่เอาอาวุธใหญ่ออกมาแบบนั้น ถ้าเราไม่มีกำหนดเวลาเปิด-ปิดด่าน หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะเกิดความเสียหายมากมาย เราจึงมีการกำหนดเปิด-ปิดด่าน ซึ่งตามปกติไม่ได้มีการกำหนด เพราะไม่ได้มีเรื่องอะไร  แต่พอเราเห็นอาวุธที่พบเป็นอาวุธที่ใช้ในระยะไกลก็เป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการ” นายกฯ กล่าวว่า  

เมื่อถามว่า จะทำให้ทั่วโลกรู้ได้อย่างไรว่า แผ่นดินเราใช้กลไกทวิภาคี เราไม่ได้ขี้โกงเอาแผ่นดินของใคร นายกฯ กล่าวว่า อันนี้ถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะการประชุม JBC หรือสิ่งที่ตนเสนอไปให้มีการประชุม RBC  ต้องเป็นการประชุมที่เราสามารถจะจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะมันไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ว่า คุยกันแล้วแยกย้าย แต่สิ่งที่เราประชุมทั้งหมด จะต้องถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร และทั่วโลกสามารถรับรู้ได้ว่าเราตกลงอะไรกันบ้าง 

นายกฯ กล่าวว่า บ่ายวันเดียวกันนี้กระทรวงการต่างประเทศ จะมีการเชิญทูตต่างประเทศที่ประจำประเทศไทยทั้งหมดมาประชุม เพื่อให้ทุกประเทศได้รับทราบ ซึ่งที่จริงแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีการคุยกับทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. กันสองคน ซึ่งได้มีการกำหนดในการพูดคุยครั้งนั้นแล้วว่า เราต้องการอะไร เราจะทำอย่างไร แต่สิ่งที่เราอาจจะทำน้อยกว่าเขา นั่นคือการสื่อสารออกสู่ที่สาธารณะ นั่นเพราะเราเคารพการเจรจาระหว่างประเทศ เราเคารพกรอบทวิภาคี เราเคารพเราให้เกียรติทั้งสองประเทศว่าสิ่งที่คุยควรจะเป็นสิ่งที่เป็นทางการและอยู่ในกรอบทวิภาคี ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทุกประเทศเมื่อมีการติดต่อสื่อสารจะต้องยึดกรอบทวิภาคีเป็นสำคัญ 

นายกฯ กล่าวอีกว่า แต่ถ้ามีการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการเกิดขึ้นอย่างมากมาย เราก็ต้องบอกจุดยืนของเราเช่นกันว่า เราไม่เคยที่จะยั่วยุ หรือพูดเพื่อให้เกิดการปะทะใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างที่ตนบอกว่าคนเสพข่าวเรื่องนึง คนที่อยู่หน้างานก็อีกเรื่องหนึ่ง

" ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าอยู่ตรงนี้แล้วเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงตรงชายแดน นั่นแปลว่าดิฉันต้องรับรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าตนจะต้องตกลงในการปะทะ มันต้องมีการคุยกับทหารด้วยว่าพร้อมหรือไม่ เราอยู่ในสถานะไหน เขาอยู่ในสถานะไหน ไม่ใช่จู่ๆจะมีเรื่อง ก็สามารถจุดให้ไฟมันติดแบบนี้ได้เลย ตรงนี้คือกรอบที่เราทุกคนต้องยึด แน่นอนว่า การปล่อยข่าว หรือปล่อยคำพูดอะไรออกมาที่ไม่เป็นทางการและส่งผลกระทบ ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่เป็นผลดีกับทั้งสองประเทศ"  นายกฯ กล่าว 

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรเมื่อกัมพูชาเล่นสงครามข่าวสารแบบนี้ นายกฯ กล่าวว่า ชี้แจงค่ะ คนไทย ประเทศไทย นายกรัฐมนตรี กองทัพ ที่ประชุมวันนี้เห็นตรงกันในทุกๆส่วน ทางกองทัพเองคิดเหมือนเราว่าเราต้องปกป้องอธิปไตยไว้ แต่จะทำอย่างไรให้ยืดการปะทะการเสียเลือดเนื้อให้ออกไปไม่ให้เกิดขึ้น แต่ยังคงต้องรักษาอธิปไตยของเราไว้ ตรงนี้เห็นตรงกันทั้งรัฐบาลและกองทัพ ใครจะปล่อยข่าวว่าตีกันเราไม่เคยตีกัน กองทัพกับรัฐบาลตอนนี้คุยกันทุกเรื่องว่าจะทำอย่างไร ตนให้เกียรติกองทัพเสมอเพราะเป็นคนหน้างาน และเป็นคนรู้ในเรื่องของอาวุธทุกอย่าง รัฐบาลก็ต้องคุยด้วยว่าจะเอาอย่างไร ตนคุยหลังไมค์อย่างไรก็เช็คกับกองทัพทุกครั้งว่าเราจะเดินอย่างไรที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ นี่คือสิ่งที่ทำเสมอกองทัพเองก็เช่นกันจะมูฟอย่างไรก็ปรึกษากับรัฐบาลว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ กรอบของต่างประเทศทำได้หรือไม่ได้ ประเทศเราเป็นแบบนี้ 

“ดิฉันขอย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลกับกองทัพไม่มีปัญหากัน และขอให้ทุกคนช่วยซัพพอร์ต กองทัพกับรัฐบาลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะวันนี้เราไม่ได้ต่อสู้กันเอง เรารักษาอธิปไตยของเราไว้ เราพูดในข้อความที่มันตรง พูดในข้อความที่รู้ได้ว่าประเทศไทยเป็นปึกแผ่นและเราก็จะไม่ยอมให้ใครมากลั่นแกล้ง ให้ใครมาใส่ร้ายให้ใครมาขู่ เราก็เป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรีเช่นกัน เราก็เป็นประเทศแข็งแรงเช่นกัน จุดนี้เองจะทำให้เราทุกคนรู้ว่าวันนี้ถ้าไม่เคารพกฎกติกาก็จะไม่ถูกยอมรับโดยทั่วโลก” นายกฯ กล่าว