กรมชลฯ เจรจาไร้ผล ม็อบต้านเขื่อนบุกปักหลักข้างทำเนียบฯ รอคำตอบจากนายกฯ นั่งร้องไห้ขอตัดสินใจยกเลิก 4 โครงการ หลังโดนตำรวจตั้งแถวสกัดบนฟุตบาตรข้างม.พระนคร เกินรัศมีห้ามชุมนุมสาธารณะรัศมีทำเนียบ 50 ม. วันนี้ (28 ม.ค.62) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหารกรมชลประทาน ได้รับมอบหมายจากนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมเจรจากับเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่าจ.นครศรีธรรมราช-พัทลุง ที่ปักหลักชุมนุมเป็นวันที่ 4 เพื่อเรียกร้องยกเลิก 4 โครงการ สร้างเขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ โครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองนครศรีธรรมราช และโครงการประตูน้ำปากประ กั้นน้ำเค็ม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ดร.ทองเปลว กล่าวภายหลังหารือกับแกนนำเครือข่ายฯว่า แกนนำและชาวบ้าน ยังยืนยันให้ยกเลิกทั้ง 4 โครงการ และให้มาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ถึงจะมาตั้งคณะทำงานร่วมกันในทุกโครงการ ซึ่งในเรื่องนี้ทางกรมชี้แจงว่ากว่าจะมาถึงการดำเนินการในปัจจุบัน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฏหมายทุกประการ ได้มีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ในพื้นที่ทุกโครงการ รวมแล้วกว่า55 ครั้ง จึงไม่ได้เป็นการเพิ่งมาคิดทำในสมัยนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเร่งรัดเสนอครม.อย่างที่มีการกล่าวหา ซึ่งในการเจรจา กรมชลประทาน พร้อมทบทวนในรายละเอียดของแต่ละโครงการที่เห็นไม่ตรงกัน เพื่อเป็นการทำงานคู่ขนานกันไปกับการเดินหน้าโครงการที่ครม. อนุมัติไปแล้ว เช่น การขุดคลอง สามารถปรับรูปแบบขนาดคลองเพื่อลดผลกระทบได้ หรือขนาด และตำแหน่งการสร้างของเขื่อน และฝาย สามารถขยับได้ หากเห็นว่าจุดที่จะก่อสร้างกระทบพื้นที่ชาวบ้าน โดยทั้งหมดจะได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันในระดับจังหวัดและท้องที่ “แต่จากผลการประชุมวันนี้ทางแกนนำยังไม่พอใจ โดยยังยื่นคำขาดให้ยกเลิกทุกโครงการ อย่างไรก็ตามในที่ประชุม ยังมีเรื่องที่เห็นตรงกันคือกรณีประตูน้ำกั้นน้ำปากประ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พัทลุง ที่นายสมใจ ละคำ ผู้ใหญบ้าน ได้ยื่นถวายฎีกา เพื่อขอให้แก้ปํญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตร ซึ่งในการหารือวันนี้ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าในรอบ50ปีเกิดหนึ่งครั้ง และไม่ต้องการโครงการนี้ จะประสานให้นายสมใจ ทำหนังสือเพื่อขอถอนฏีกาถอนโครงการจากสำนักราชเลขาธิการ เพื่อที่จะได้มีบันทึกให้หน่วยราชการปฏิบัติการ เพราะเรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าทุกฝ่ายต้องทำตามทำหน้าที่ หากวันหนึ่งมีประชาชนเห็นด้วยกับโครงการ เฮโลมาแบบนี้จะให้กรมชลฯทำอย่างไร ซึ่งจะได้เกิดความชัดเจนขณะนี้ตรงกันทุกฝ่ายรับรู้ว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการโครงการ และผู้ยื่นฏีกา เบื้องต้นทราบว่ายินดีไปถอนเรื่องที่สำนักราชฯ”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว ดร.ทองเปลว กล่าวว่า กรณีโครงการเขื่อนวังหีบ ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นโครงการที่ ครม.เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.61 เห็นชอบแล้วให้ดำเนินการโครงการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการออกแบบแต่อย่างใด เนื่องจากเมื่อครม.มีมติให้ทำได้ กรมชลฯต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อสำรวจออกแบบการก่อสร้าง หากชาวบ้านในพื้นที่เป็นการบุกรุกป่าและกระทบที่อยู่อาศัย พร้อมที่จะหารือร่วมกัน นำความเห็นของชาวบ้านมาปรับขยับแนวก่อสร้างเขื่อนได้ ที่ให้เหมาะสมกับการแก้ปัญหาอุกทภัยและขาดแคลนน้ำหน้าแล้ง สำหรับกรณีที่กล่าวหาว่าคลองวังหีบ ไม่ได้ผ่านเขตเมือง ทุ่งสง ไม่ได้แก้ปัญหาอุทกภัยได้และปริมาณน้ำมีมากกว่า 40 ล้านลบ.ม.ต่อปี จึงไม่ได้ขาดแคลนน้ำนั้น ขอเรียนว่าโครงการนี้ เกิดจากในปี33 นายด้วง จิตงาม ผู้ใหญ่บ้าน ทุ่งสง ทำถวายฏีกา เพื่อขอให้แก้ปัญหาอุทกภัยและเก็บน้ำไว้ฤดูแล้ง ทำเกษตร ซึ่งโครงการนี้อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขน้ำท่วมทุ่งสงโดยตรง แต่เขื่อนช่วยลดยอดน้ำที่จะไหลมาเอ้อท่วมในเมือง ดร.ทองเปลว กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สำหรับโครงการคลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราช ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณ 9,560 ล้านบาท (ปี61-63)ขณะนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องขุดขยายคลองเพื่อลดอุทกภัยตัวเมืองนคร เนื่องจากคลองเดิมมีปัญหาบุกรุกทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ โดยศักยภาพคลองเดิมได้ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลเข้าเมืองเฉลี่ย700 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ตัวเมืองประสบอุทกภัยบ่อยขึ้นเพราะตัวเมืองขยายและมีสิ่งกีดขวางทางน้ำมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้แม้ว่าจะดำเนินการโครงการไปแล้ว แต่ในบางรายละเอียดพร้อมคุยทุกฝ่าย เพื่อหาจุดที่ทุกคนรับได้เช่นหากเห็นว่าคลองกว้างไป จะปรับขุดแนวลึกแทน แต่ทั้งนี้คงขนาดรับน้ำได้ 700ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อระบายน้ำออกจากเมืองเร็วที่สุด โดยสามารถทำงานคู่ขนานไปกับการเดินหน้าโครงการได้ นอกจากนี้ โครงการเขื่อนคลองสังข์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นเขื่อนขนาดกลาง งบไม่ถึง 1 พันล้านบาท ไม่ต้องเข้าครม. ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นฝาย ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงต้องขยายโครงการ ให้รับน้ำได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อปี54 นายฉลอง เทพจินดา ผู้ใหญ่ ถวายฏีกา ขอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจ โดยกรมชลฯใช้งบปี 61-62 อย่างไรก็ตามทุกโครงการแม้ว่าเปิดโครงการแล้วก็สามารถมาเจรจาปรับโครงการได้ ซึ่งกรมชลฯพร้อมรับข้อเสนอจากชาวบ้านไม่ได้ลุยทำแต่อย่างเดียว ต่อจากนั้นเวลา 10.00 น.แกนนำเครือข่ายและชาวบ้าน เดินเท้าและใช้เชือกผ้าสีผ้าผูกมัดข้อมือเรียงเป็นแถว เหมือนโดนพันทะนาการ มาทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับถือพานใส่เส้นผมของชาวบ้านทุกคน ที่ให้คำสาบานร่วมกันจะต่อสู้นจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกโครงการ ซึ่งระหว่างทาง พล.ต.ต.ภัครพงษ์ พงษ์เภตรา รองผบ.ชน.มาเจราให้ยุติการเดินเท้าไปทำเนียบ และให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี มารับเรื่องโดยไม่ต้องเคลื่อนที่ แต่นายจักรพันธ์ พรหมมงคล แกนนำ ฯยืนยันว่าจะขอเดินทางไปอย่างสงบ เพื่อไปรับคำตอบแนวทางแก้ไขปัญหา ที่ทำเนียบฯ และระมัดระวังไม่ให้มีเหตุการณ์วุ่นวาย หากมีการฝ่าฝืนให้จับกุมได้ทันที จากนั้นม็อบได้เคลื่อนมาเรื่อยๆมาปักหลักด้านข้างทำเนียบฯบริเวณถนนข้างมหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร โดยมีกำลังตำรวจ กว่า 30 นาย ได้มาตั้งแถวกันไม่ให้ฝ่าไปถึงประตูทำเนียบ โดยติดประกาศ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 มาตรา7 ห้ามมิให้ชุมนุนในรัศมี50เมตรรอบทำเนียบฯฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน6 เดือน หรือปรับไม่เกิน1หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแกนนำได้ลงชื่อรับทราบคำชี้แจงตามพ.ร.บ.แล้ว ขอใช้เวลา 2 ชม.ในการรอคำตอบจากผู้อำนาจตัดสินใจยกเลิกทั้ง4 โครงการ แต่ครบ2 ชม.ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มาให้คำตอบ แกนนำม็อบและชาวบ้าน ร่วมกันร้องเพลง นั่งปักหลักต่อไปบางคนร้องไห้เสียงดังขอให้นายกรัฐมนตรี ยกเลิกโครงการ เพราะมีความเดือดร้อนหนักมากที่จะไม่มีที่อยู่ที่ทำกินต้องอพพยจากการสร้างเชื่อน ขายรถมอเตอร์ไซส์ เป็นค่าเดินทาง ซึ่งตำรวจระดับผู้ใหญ่ มาขอร้องให้เดินกลับไปรอฟังท่าทีของรัฐบาลหน้ากระทรวงเกษตรฯ ต่อมาเวลา 14.30 น.โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มาประกาศห้ามชุมนุม ตามพ.ร.บ.ห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมี50เมตร ประกอบคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่บัดนี้ ลงนามโดยพล.ต.ต.ภัครพงษ์ พงษ์เภตรา รองผบ.ชน.ให้ผู้ชุมนุมขยับขึ้นไปบนฟุตบาตรด้านข้างม.ราชมงคลพระนคร เป็นพื้นที่นอกเขตรัศมี 50 เมตร