กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล เมื่อเฟซบุ๊ก Kannika Suakeaw ได้โพสต์ภาพมือสุดสะพรึงคล้ายมีบางอย่างอยู่ใต้ผิวหนัง พร้อมระบุข้อความว่า "ให้ทุกคนทายหน่อยค่ะว่ามันคืออะไร ทุกคนจะคิดไม่ถึง แล้วค่อยเฉลย จะได้ป้องกัน"
ต่อมาได้โพสต์เพิ่มเติมว่า "เฉลยนะคะหมอบอกว่าโดนพยาธิค่ะ ก่อนจะเกิด พี่แกไปถอนหญ้าทั้งวัน นอนกลางคืนมารู้สึกคันมากและตื่นเช้ามีตุ่มน้ำใส คันมากและมันเคลื่อนที่ไปใต้ผิวหนัง หมอบอกเกิดจากอาหาร หรือผักดิบ หรือจากผิวหนังที่มีแผล ซึ่งพยาธิมันอยู่ในชั้นดินที่ลึกมันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย เพราะฉะนั้นการล้างมือให้สะอาด อาหารที่สุกสะอาดจึงสำคัญมาก ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่"
ต่อมา เพจ "เอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม" ได้ออกมาให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวว่า Cutaneous Larva Migrans (CLM)
หรือที่บางครั้งเรียกว่า “โรคตัวอ่อนพยาธิไชผิวหนัง” เป็นการติดเชื้อพยาธิชนิดหนึ่งที่ตัวอ่อนของพยาธิ (โดยมากเป็นพยาธิปากขอของสัตว์ เช่น สุนัขหรือแมว) แทรกเข้าสู่ผิวหนังมนุษย์และเคลื่อนที่ไปตามชั้นผิว ทำให้เกิดอาการคันและผื่นลักษณะเฉพาะ
สาเหตุ CLM
-พยาธิปากขอสัตว์ เช่น Ancylostoma braziliense และ Ancylostoma caninum
-พยาธิเหล่านี้พบในอุจจาระของสุนัขและแมว เมื่อถ่ายลงบนพื้นดิน ตัวอ่อนสามารถฟักและอยู่ในดินหรือทราย
-ตัวอ่อนสามารถไชเข้าสู่ผิวหนังมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อเดินเท้าเปล่า หรือนั่ง/นอนบนพื้นดินที่มีการปนเปื้อน
อาการ
-ผื่นแดงรูปเส้นคดงอใต้ผิวหนัง
-คันอย่างรุนแรง
ผื่นมักจะ เคลื่อนที่ช้าๆ วันละไม่กี่มิลลิเมตรถึง 2 ซม.
-มักพบบริเวณ เท้า, ขา, ก้น, หลัง หรือส่วนที่สัมผัสดิน/ทราย
-CLM ไม่สามารถพัฒนาเป็นพยาธิเต็มวัยในร่างกายมนุษย์ ตัวอ่อนจะหยุดโตและตายในที่สุด
การรักษา โดยอาการสามารถหายได้เองภายใน 2–8 สัปดาห์ แต่เนื่องจากอาการคันและไม่สบายมักรุนแรง
การรักษาด้วยยาเป็นที่แนะนำ:
1. Ivermectin: 200 µg/kg รับประทานครั้งเดียว หรือวันละ 1 ครั้ง 1–2 วัน
2.Albendazole: 400 mg วันละ 1–2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน
3.ยาทาเฉพาะที่ เช่น thiabendazole cream อาจใช้ร่วมด้วยยาต้านฮิสตามีนสำหรับลดอาการคัน เช่น cetirizine หรือ loratadine
การป้องกัน
-หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนดินหรือทราย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสัตว์จรจัด
-ใช้เสื่อ/ผ้าปูรองก่อนนั่งหรือนอนบนพื้น
-กำจัดมูลสัตว์อย่างถูกสุขลักษณะ และควบคุมการถ่ายของสัตว์เลี้ยง
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก-Kannika Suakeaw / เฟซบุ๊ก-เอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม