"ผอ.ศอ.ปชด." เพิ่มขีดความสามารถกองกำลังป้องกัน แนวชายแดนรอบด้าน มอบอุปกรณ์เครื่องมือพิเศษให้กองกำลังสุรนารี-ผาเมือง-สุรศักดิ์มนตรี-นเรศวร-ฉก.ปพ.ร่วมป้องกันชายแดน-ปราบยาเสพติด
วันที่ 13 มิถุนายน 2568 พลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ( ผอ.ศอ.ปชด.) เป็นประธานในพิธีส่งมอบยุทโธปกรณ์พิเศษให้กับกองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบก และหน่วยเฉพาะกิจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วม ณ บริเวณด้านหน้าอาคารกองบัญชาการกองทัพไทย
ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารสูงสุด/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการฯ ที่ได้มอบหมายให้กรมยุทธการทหาร และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากลดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์พิเศษ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ให้กับหน่วยงานภายใต้โครงสร้างของศูนย์อำนวยการฯ ดังกล่าว
โดยในครั้งนี้ กรมยุทธการทหาร และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (ศตก.)ได้จัดหายุทโธปกรณ์พิเศษแล้วเสร็จ จำนวน 4 รายการ พร้อมส่งมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- กองกำลังสุรนารี : รถจักรยานยนต์วิบาก Kawasaki จำนวน 5 คัน
- กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี : รถจักรยานยนต์ Honda Wave จำนวน 8 คัน
- กองกำลังผาเมือง : รถจักรยานยนต์ Honda Wave จำนวน 6 คัน
- กองกำลังนเรศวร : รถจักรยานยนต์ Honda Wave จำนวน 4 คัน
- หน่วยเฉพาะกิจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วม : รถจักรยานยนต์ Honda Wave จำนวน 12 คัน
- เครื่องรับ-ส่งวิทยุ VHF/FM จำนวน 78 เครื่อง พร้อมแบตเตอรี่
นอกจากนี้ กองบัญชาการกองทัพไทยยังได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์อื่น ๆ จากนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 67 เพื่อนำไปมอบให้กับกองกำลังป้องกันชายแดนอีกด้วย การจัดหายุทโธปกรณ์ในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกองบัญชาการกองทัพไทย ที่ไม่เพียงเน้นการเสริมขีดความสามารถทางยุทโธปกรณ์ แต่ยังมุ่งพัฒนา “เครือข่ายความมั่นคงเชิงระบบ” โดยคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศที่ยากต่อการเข้าถึง และภัยคุกคามที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โดยในปีงบประมาณ 2567–2568 กองบัญชาการกองทัพไทยได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดหาและส่งมอบ
ยุทโธปกรณ์ที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติงาน เช่น
- โดรนตรวจการณ์ เพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าตรวจ
- กล้องตรวจจับความเคลื่อนไหว
- รถจักรยานยนต์แบบวิบากและไฟฟ้า สำหรับการเข้าถึงพื้นที่ทุรกันดาร
- เรือยางทางยุทธวิธีพร้อมเครื่องยนต์ สำหรับภารกิจตามแนวลำน้ำชายแดน
- ระบบโซลาร์เซลล์ สนับสนุนการใช้พลังงานในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้า
- การปรับปรุงเส้นทางแนวชายแดน และระบบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนการดำรงชีพ
ของกำลังพลในพื้นที่ห่างไกล
ขณะเดียวกันยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งสะท้อนพลังแห่งความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่พร้อมผนึกกำลังเพื่อความมั่นคงของชาติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหมดนี้ เป็นภารกิจของกองบัญชาการกองทัพไทย/ศูนย์อำนวยการฯ ที่พร้อมเดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานชายแดนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจ “ปกป้องปฐพี พิทักษ์แผ่นดิน” ตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงที สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน และปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างมั่นคงและยั่งยืน