วันที่ 12 มิ.ย.68 เพจ ประชาคมแพทย์ โพสต์ข้อความระบุว่า คำแนะนำ 5 ข้อ ต่อแพทยสภา กรณี “แพทย์เวร” ในคดีชั้น 14 (ณ วันที่ 12 มิ.ย. 2568 เป็นต้นไป)
แม้จะมีมติของแพทยสภาแล้ว แต่คดีนี้ยังไม่จบ ประชาคมแพทย์ขอเสนอแนวทางดำเนินการต่อไปในประเด็น “แพทย์เวร” โดยเฉพาะ มีทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้:
1. ตั้งเรื่องสอบสวนแพทย์เวร
ในคืนวันที่ 22 ส.ค. 2566 พยาบาลได้โทรปรึกษาแพทย์เวรเรื่องอาการผู้ต้องขัง นั่นถือเป็นการให้บริการ Telemedicine ตามประกาศแพทยสภา 54/2563 โดยไม่จำเป็นว่าจงใจหรือไม่ แพทย์ผู้ให้คำแนะนำจึงต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดข้อ 4, 5 และ 9 ของประกาศฯ นี้ (หากผู้ปรึกษาเป็นพยาบาล) หรือข้อ 4 และ 5 (หากเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ)
2. ตรวจสอบว่าใครคือแพทย์ที่ให้คำปรึกษาในคืนนั้น
เสนอให้ดำเนินการ 4 ช่องทางพร้อมกัน:
1) สอบถาม นพ.วัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ รพ.ราชทัณฑ์
2) สอบถามคุณรังสิมันต์ โรม (ปธ.กรรมาธิการความมั่นคง)
3) สอบถามนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เพื่อยืนยันข้อมูล
4) ส่งตัวแทนแพทยสภา (เช่น เลขาธิการ) เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนของศาลฎีกาในวันที่ 13 มิ.ย.
3. เริ่มสอบสวนโดยตั้งคณะกรรมการเมื่อได้ข้อมูลยืนยัน
ประชาคมแพทย์เคยเสนอไว้แล้วว่า ควรมี 5 คำถามสำคัญที่ต้องถามแพทย์เวร ซึ่งเคยเผยแพร่ผ่านเพจของเราในโพสนี้ https://www.facebook.com/share/p/16kDuStSB4/
4. ไม่ต้องรอผลศาลปกครอง
เพราะมี “ข้อมูลใหม่” จากคำวีโต้ของสภานายกพิเศษเมื่อ 28 พ.ค. 2568 ซึ่งถือว่าน่าเชื่อถือพอสมควร สามารถใช้ตั้งเรื่องสอบสวนได้ทันที
5. แยกบทบาท “ผู้บริหาร” ออกจาก “แพทย์”
หากการให้คำแนะนำมาจากผู้อำนวยการ รพ.ราชทัณฑ์ ไม่ใช่แพทย์เวร แต่อยู่ในบริบทที่มีการพูดคุยเรื่องอาการผู้ป่วยยามวิกาล เช่น แน่นหน้าอก ความดันสูง ออกซิเจนต่ำ ก็ถือเป็น Telemedicine เช่นกัน
แม้ผู้อำนวยการจะเป็นผู้บริหาร แต่เมื่อให้คำแนะนำทางการแพทย์ ก็ต้องอยู่ภายใต้ประกาศแพทยสภาเดียวกัน
เช่นเดียวกัน หากเป็นแพทย์จาก รพ.ตำรวจ ก็เข้าข่ายเดียวกันทั้งหมด
---
เหตุผลสำคัญที่ต้องสอบสวน
เพื่อรักษามาตรฐานวิชาชีพทางการแพทย์ โดยเฉพาะกรณี Telemedicine ที่แพทย์หลายคนอาจยังไม่เข้าใจดี
การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ที่มีผลต่อชีวิตผู้ป่วย ย่อมถือเป็นการประกอบวิชาชีพ
หากแพทยสภาไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในกรณีนี้ จะยิ่งทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่น และทำให้ “แพทย์เวร” จากผู้บริสุทธิ์อาจกลายเป็นผู้ต้องสงสัยหรือพยานในกระบวนการที่สังคมตั้งคำถามถึงความไม่สุจริต ถึงเวลานี้ก็ไม่มีใครรู้ว่ากระบวนการ สอบสวนจะเกิดขึ้นหรือไม่และถ้าจะไม่เกิดเพราะอะไร สิ่งนี้ เป็นอันตรายต่อ ความมั่นใจ ของสังคมต่อองค์กรวิชาชีพ
ด้วยความเคารพ และเป็นห่วงแพทยสภา
แอดมิน ประชาคมแพทย์
12 มิย.68
ขอแสดงความยินดี กับ แพทย์ทั้งประเทศ และประชาชน ผู้ยัง เชื่อมั่น ศรัทธา ในพวกเรา และหวังว่าความเชื่อมั่น จะมีมากขึ้นมากขึ้น
ขอบคุณ เพจ ประชาคมแพทย์
#แพทยสภา #คดีชั้น14 #แพทย์เวร #ประชาคมแพทย์