ลีลาชีวิต/ ทวี สุรฤทธิกุล
บางคนเชื่อว่าชีวิตนั้นเป็นไปตาม “ดวง” หรือ “ดวงดาว” แบบดวงดีก็วาววับ ดวงดับก็หม่นหมอง แล้วแต่ว่าดวงดาวเราจะ “โคจร” ไปอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ อย่างไร
ในตอนที่แล้วผู้เขียนได้ตั้งคำถามไว้คำถามหนึ่งเกี่ยวกับการเมืองไทย คือคำถามที่ว่า “ทำไมทหารเมื่อทำรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 แล้ว จึงไม่ขึ้นครองตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งหมด และใช้อำนาจเผด็จการให้เด็ดขาดไปเลย” คำตอบจะมาเฉลยในตอนนี้ ก็คือคำตอบที่ว่า “ทหารรู้ว่าอำนาจที่แท้จริงของการเมืองการปกครองไทยนั้นอยู่ที่ใคร” ซึ่งทำให้การเมืองไทยได้เปลี่ยนโฉมและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนั้น ท่านคืออดีตผู้นำฝ่ายทหารของคณะราษฎร ที่เป็นแกนหลักของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในทางพฤตินัย แต่ท่านก็ถ่อมตัวไม่รับตำแหน่งใหญ่ ๆ ตั้งแต่แรก และก็ดูเหมือนว่าจะเป็นลักษณะความเชื่อความคิดของคณะราษฎรทั้งคณะ ที่พยายามจะประนีประนอมกับกลุ่มพวกเจ้าภายหลังเมื่อ “ล้มเจ้า” ได้แล้ว ทั้งที่ในตอนแรกก็ดูจะแข็งกร้าวและคิดที่จะจัดการกับพวกเจ้าอย่างเด็ดขาด แต่ก็เหมือนคณะราษฎรก็ได้ “ฉุกคิด” ดังที่ได้เห็นว่าได้จัดการกับพวกเจ้านายด้วยความละมุนละม่อม อีกทั้งที่ได้ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่สามารถประสานกับพวกเจ้าได้ดี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น จนเมื่อเห็นว่าพระยามโนฯเริ่มจะเป็นตัวของตัวเองมากไป(คือไม่ค่อยเชื่อฟังหรืออยู่ในกำกับของคณะราษฎร) จอมพล ป.(ซึ่งตอนนั้นยังมียศแค่นายพันโท)ก็ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นคนของคณะราษฎรบีบให้พระยามโนฯลาออก แล้วก็ให้นายทหารที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้าคณะราษฎร คือพระยาพหลพลพยุหเสนา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ว่าพระยาพหลฯก็คุมรัฐบาลและรัฐสภาไม่ได้ ที่สุดก็ต้องให้พันโทหลวงพิบูลสงคราม(ที่ต่อมาคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม)ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ทหารและกองทัพในภาพรวมน่าจะมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาแต่อดีตนั้นแล้ว แม้เมื่อมีการยึดอำนาจและล้มเจ้าในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นักวิชาการและผู้รู้จำนวนมากก็เชื่อว่าทหารยังคงต้อง “แอบอิง” พระมหากษัตริย์เพื่อคงความเข้มแข็งไว้กับกองทัพนั้นเสมอมา เช่นเดียวกันกับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ในหลาย ๆ โอกาส โดยผู้เขียนจะปะติดปะต่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ซึ่งแนวคิดนี้ได้ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้ทะเลาะกับทหาร เว้นแต่ทหารที่จะมาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงที่พยายามช่วยเหลือและส่งเสริมทหารที่จงรักภักดีและเทิดทูนต่อพระมหากษัตริย์นั้นอย่างจริงใจด้วย
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ว่า ท่านเชื่อว่าทหารยุคนั้นจะส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างจริงจัง ดังเช่นที่ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้นก่อน แล้วก็ให้สภาชุดใหม่นี้มาร่างรัฐธรรมนูญ จนได้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมาก ๆ แต่ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติที่สำคัญที่จะเทิดทูนและสร้างเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้มแข็งมั่นคง ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” อันถือว่าเป็น “ต้นแบบ” ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีการร่างต่อมาหลังจากนั้น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นการยืนยันว่านี่คือระบอบการปกครองที่แท้จริงของประเทศไทย “ระบอบประชาธิปไตย – อันมี - พระมหากษัตริย์ - ทรงเป็นพระประมุข”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าการเมืองใน พ.ศ.2492 ทำท่าว่าจะไปได้ด้วยดี แต่ก็เป็นเหมือนการเมืองไทยในยุคต่อมา(ท่านหมายถึงหลังการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 ที่มีขึ้นภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516)ที่มีการใช้เสรีภาพอย่างเกินขอบเขต โดยเฉพาะสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภาที่เรียกร้องเอาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างน่าเบื่อ จนถึงขั้นที่ขอเสนอขึ้นเงินเดือนตัวเอง รวมถึงความวุ่นวายของฝ่ายค้านที่มีการเสนอญัตติอภิปรายโจมตีรัฐบาลแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างที่สื่อสมัยนั้นเรียกว่า “เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง” รวมถึงมีข่าวว่า ส.ส.ในบางจังหวัดไปสนับสนุนผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ที่สุดทหารก็เข้าจัดการ เกิดกรณี “สังหาร 4 นักการเมืองภาคอีสาน” ที่เหี้ยมโหดและเป็นข่าวครึกโครมที่สุดในยุคนั้น
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองก็เบื่อหน่ายความวุ่นวายในยุคนั้นมาก เมื่อมีเรื่องที่ ส.ส.จำนวนหนึ่งเสนอขึ้นเงินเดือนในตอนปลายปี 2492 ท่านก็ประกาศลาออกกลางสภา กลายเป็นข่าวดังที่สมัยนี้ต้องเรียกว่าเป็น “ไวรัลใหญ่มาก ๆ” ทีเดียว ถึงขั้นที่มีชาวบ้านมาขอพบและนำทองคำเปลวมาปิดที่แขน (ที่สื่อสมัยนั้นถือว่าเป็นข่าวใหญ่ก็เพราะว่าไม่เคยมีใครเอาทองไปปิดที่ตัวคน มีแต่ที่เอาไปปิดที่พระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เท่านั้น) พอดีกับที่ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ท่านก็เข้าอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งแต่แรกก็ตั้งใจว่าจะบวชให้ได้สักหนึ่งพรรษา แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ได้ประมาณเดือนเศษ เพราะมีเรื่องที่จะต้องทำโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่มีคนอื่น “หาเรื่อง” มาให้ทำ
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (นามเดิม ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้เล่าเรียนศึกษาพระศาสนาตามหน้าที่เหมือนพระสงฆ์บวชใหม่ทั่วไป แต่ตัวท่านนั้นท่านยังชอบที่จะไปคุยกับพระรูปโน้นรูปนี้มากกว่า เพราะได้รับความรู้ที่มี “รสชาติ” มากกว่า อย่างที่ท่านชอบไปสนทนาธรรมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯอยู่เนือง ๆ ด้วยถูกอัธยาศัยกัน (ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้นำเรื่องที่ได้ไปคุยกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯนั้นมาเขียนลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐอยู่หลายเรื่อง มีทั้งสาระความรู้และความสนุกสนาน)
เมื่อพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสร็จสิ้นลง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ยังไม่คิดจะลาสิกขา จนกระทั่งหลังสงกรานต์ปี 2493 โยมเพื่อนในอาชีพนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง คือนายสละ ลิขิตกุล ที่ชอบแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนที่วัดเป็นประจำ ก็มาถามว่าท่านจะลาสิกขาเมื่อใด ซึ่งท่านก็ถามว่ามีอะไรหรือ นายสละก็บอกว่ามีคนจะขายเครื่องจักรพิมพ์หนังสือในราคาไม่แพง อยากให้ท่านซื้อมาทำหนังสือพิมพ์ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่าท่านจำไม่ได้ว่าถูกหว่านล้อมด้วยเหตุผลอะไรบ้าง แต่ก็ได้บอกให้นายสละมารับเช็คในวันอื่น ที่นอกจากจะมีค่าเครื่องจักรพิมพ์หนังสือนั้นแล้ว ก็ยังมีค่าซื้ออุปกรณ์สำนักงานและข้าวของอื่น ๆ ที่จำเป็นอีกส่วนหนึ่ง ส่วนตัวโรงพิมพ์และที่ทำการสำนักพิมพ์ก็ให้ไปใช้ที่อาคารสำนักงานตรงหัวถนนราชดำเนินกลางที่ใกล้ ๆ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสำนักงานทนายความของพี่ชายท่าน คือท่านอาจารย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อยู่ก่อนนั้นแล้ว
นายสละ ลิขิตกุล ได้เขียนถึงเรื่องการตั้งโรงพิมพ์ในครั้งนั้นว่า ได้ไปขอข้าวกินที่วัดบวรฯจากพระภิกษุคึกฤทธิ์นั้นบ่อย ๆ (พระภิกษุคึกฤทธิ์มีชื่อฉายาว่า “ปราโมชากโรภิกขุ” แปลว่า “ผู้ยังให้เกิดความยินดี”) ได้ไปนมัสการถามท่านเรื่องตั้งโรงพิมพ์ ท่านก็ตอบตกลงด้วยดี แล้วก็ได้นัดให้ไปรับเช็คในวันต่อมา และให้ไปจัดเตรียมสถานที่ตรงตึกที่ถนนราชดำเนิน ระหว่างนั้นก็มีการช่วยกันตั้งชื่อหนังสือพิมพ์ จนได้ชื่อว่า “สยามรัฐ” ในวันที่เปิดโรงพิมพ์นั้นก็ไม่มีพิธีอะไรยุ่งยาก เช้านั้นพอพระที่ท่านบิณฑบาตเป็นประจำผ่านมาหน้าโรงพิมพ์ ก็นิมนต์ให้ท่านมาเจิมป้ายและรดน้ำมนต์ เมื่อเสร็จแล้วก็ถวายจัตตุปัจจัยไทยทาน ขอให้ท่านให้ศีลให้พรเป็นอันเสร็จพิธี
การทำโรงพิมพ์สยามรัฐในครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปเป็น “ดาว” อีกดวงหนึ่ง โดยครั้งนี้เป็นดวงที่ใหญ่มาก ๆ และเป็น “ดาวค้างฟ้า” จนแม้เมื่อท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว