วันที่ 11 มิ.ย.68 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ และที่ปรึกษาฯ เดินทางไปติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดลำปาง โดยมี นายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สำนักงานกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นายวัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 นายสัณฐิต พีรานนท์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายไชยวัฒน์ กำทอง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา นายนครินทร์ วงศ์ฟูเฟื่องขจร ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน นายทนงศักดิ์ อะโน ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม นายอาทร คงแท่น ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง นายชวนินทร์ สุภาษา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุโขทัย นายสัมพันธ์ พิรกุลวานิช ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสุโขทัย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามผลการดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
ในการนี้ นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 ได้บรรยายสรุปภาพรวมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 4 ประกอบด้วยจังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดตาก และจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 214 โครงการ แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำจำนวน 79 โครงการ ฝายจำนวน 36 โครงการ สถานีสูบน้ำจำนวน 10 โครงการ และอื่น ๆ เช่น ท่อส่งน้ำ แก้มลิง ประตูระบายน้ำ จำนวน 89 โครงการ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ มีความจุโดยรวมประมาณ 256.33 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 973,367 ไร่สำหรับภาพรวมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย นั้น มีจำนวน 32 โครงการ แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำจำนวน 10 โครงการ ฝายจำนวน 4 โครงการ และอื่น ๆ เช่น ท่อส่งน้ำ แก้มลิง ประตูระบายน้ำ จำนวน 18 โครงการ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ มีความจุโดยรวมประมาณ 259 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 121,540 ไร่
จากนั้น นายชวนินทร์ สุภาษา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุโขทัย ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดสุโขทัย ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่แก่แม่ทัพภาคที่ 3 และผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย สรุปความว่า "...แม่น้ำยม ในฤดูฝนมีน้ำมาก ในฤดูแล้งเกือบจะไม่มี ให้หาทางกั้นน้ำเป็นช่วง ๆ แล้วผันเข้าคลองธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำยม แล้วทำการขุดลอกให้สามารถส่งน้ำและนำไปกักเก็บไว้ตามหนองบึงธรรมชาติต่อไป..." กรมชลประทาน จึงได้สนองพระราชดำริโดยการศึกษาโครงการและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาแหล่งน้ำ ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งจากผลการศึกษา พบว่า หากดำเนินการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) จะมีความเหมาะสมมากที่สุด กรมชลประทาน จึงได้ก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อปี 2550 มีลักษณะโครงการเป็นประตูระบาย 5 ช่อง ขนาด 12.50 x 10.50 เมตร ชนิดบานโค้ง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และสามารถทดน้ำเข้าคลองฝั่งซ้าย (คลองหกบาท) และคลองฝั่งขวา (คลองน้ำโจน) เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรในฤดูฝนได้ 66,000 ไร่ ฤดูแล้ง 19,500 ไร่ ครอบคลุม จำนวน 3 อำเภอ 8 ตำบล 58 หมู่บ้าน และยังช่วยบรรเทาอุทกภัยโดยการระบายน้ำเข้าคลองผันน้ำแม่น้ำยม - น่าน สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายน้ำเข้าคลองผันน้ำแม่น้ำยมสายเก่า สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกทั้งยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคมข้ามแม่น้ำยมเชื่อมระหว่างตำบลในเมือง และตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ได้อีกด้วย ปัจจุบันโครงการชลประทานสุโขทัย สำนักงานชลประทานที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล ส่งน้ำ และบำรุงรักษา ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มบริหาร) จำนวน 11 กลุ่ม และกลุ่มใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มพื้นฐาน) จำนวน 15 กลุ่ม
โอกาสนี้ องคมนตรี ได้มอบเมล็ดพันธ์ข้าวพระราชทานให้แก่ราษฎร พร้อมตรวจเยี่ยมโครงการ ปลูกต้นไทรย้อยใบแหลม และได้ให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานโครงการฯ
ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยัง โครงการอ่างเก็บน้ำแม่มอกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง โดยมีนายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายพรมงคล ชิดชอบ รอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายอาทิว ทุ่งเจ็ด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ บริเวณโครงการ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุโขทัย ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสกับอธิบดีกรมชลประทาน ในขณะนั้น ความว่า "...ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งของเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อการเพาะปลูก อยู่เป็นประจำ..." และพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม "...ควรสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำในลำน้ำแม่มอกโดยเร่งด่วน เป็นอันดับแรก..." กรมชลประทานจึงได้เริ่มการดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2536 ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2543 อ่างเก็บน้ำแม่มอก มีความจุที่ระดับเก็บกัก 110,000,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน จำนวน 75,000 ไร่ และในฤดูแล้งจำนวน 66,400 ไร่ ครอบคลุม 2 จังหวัด (จังหวัดลำปาง และจังหวัดสุโขทัย) 4 อำเภอ 10 ตำบล 76 หมู่บ้าน และช่วยบรรเทาอุทกภัย ในเขตพื้นที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง และอำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย อีกทั้งยังช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำแม่มอกมีน้ำอุปโภคบริโภค สร้างรายได้ด้านเกษตรกรรม พัฒนาชุมชนให้เพียงพอแบบบูรณาการและยั่งยืน ปัจจุบันโครงการชลประทานสุโขทัย สำนักงานชลประทานที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบ ในการดูแลส่งน้ำและบำรุงรักษา ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มบริหาร) จำนวน 5 กลุ่ม และกลุ่มใช้น้ำ ชลประทาน (กลุ่มพื้นฐาน) จำนวน 13 กลุ่ม
ต่อมา องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังโครงการท่อระบายน้ำท่าไม้แดง ตำบลไทยชนะศึก อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย โดยโครงการดังกล่าว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริ กับนายสุพจน์ รุจิรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกิจกรรมพิเศษ กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2537 ให้วางโครงการและก่อสร้างฝายทดแทนน้ำในลำน้ำแม่มอก ที่บริเวณบ้านฝั่งหมิ่น หมู่ที่ 4 ตำบลไทยชนะศึก อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย แทนฝายทดน้ำท่าไม้แดงที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ก่อสร้างไว้เดิม และถูกน้ำกัดเซาะเสียหายใช้การไม่ได้ ซึ่งกรมชลประทานได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2540 มีลักษณะโครงการเป็นท่อระบายน้ำ ขนาด 4 ช่อง ขนาด 2.90 x 3.00 เมตร ความยาว 47.50 เมตร ต่อมาในปี 2557 และปี 2558 ได้ดำเนินการปรับปรุง เพื่อเพิ่ศักยภาพของโครงการ โดยการก่อสร้างฝายคอนกรีตล้วนปนหินใหญ่ และก่อสร้างรางคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 740 เมตร สามารถส่งน้ำให้แก่มีพื้นที่ชลประทาน ในฤดูฝน จำนวน 3,000 ไร่ ในฤดูแล้ง จำนวน 500 ไร่ ครอบคลุม 1 ตำบล คือ ตำบลไทยชนะศึก อำเภอ ทุ่งเสลี่ยม จำนวน 4 หมู่บ้าน ช่วยเหลือการอุปโภคบริโภค และการเกษตรให้แก่ราษฎรในพื้นที่ จำนวน 1,450 ครัวเรือน 7,250 ราย