เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.68 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ แถลงว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ฝ่ายไทย ครั้งที่ 2 โดยก่อนการประชุมได้มอบนโยบายในการเจรจา เพื่อให้ใช้เป็นจุดสำคัญในการพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชาแก่นายประศาสน์ ประสาศน์วินิจฉัย ประธานเจบีซี 3 ประการ คือ ประการแรก ตนต้องการให้คณะผู้แทนโน้มน้าวให้ฝ่ายกัมพูชาตระหนักว่าเราได้ลดความตึงเครียดในระดับหนึ่ง ขอขอบคุณฝ่ายทหารที่ได้เจรจาและลดการเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่าย โดยการขยายผลเป็นหน้าที่ของเจบีซี ตนต้องการเห็นบริเวณนี้เป็นพื้นที่สันติเพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนและถาวร ไม่มีการเผชิญหน้ากันอีก กลไกในการเจรจา 2 ฝ่ายมีทั้งเจบีซี, อาร์บีซี และจีบีซี ซึ่งมีประสิทธิภาพมากที่สุด ตนอยากเห็นการต่อยอดและขยายผลเพื่อให้พื้นที่บริเวณนั้นมีความสงบและสันติสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้นำของทั้งสองประเทศพูดคุยกันมาโดยเสมอ
ประการที่สอง ต้องการเห็นการเจรจาในวันที่ 14 มิถุนายน มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเส้นเขตแดนเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนร่วมกันได้ ประการที่สาม ได้ขอให้ประธานฯ ยืนยันในอธิปไตยของประเทศและจะไม่ยอมให้ไทยเสียดินแดนโดยเด็ดขาด โดยการแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบองค์การสหประชาชาติ มีกลไกของการแก้ไขปัญหาหลายวิธี ซึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากที่สุดคือใช้กลไกทวิภาคีในการแก้ไขปัญหา และตนขอยืนยันว่าไทยไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่ 2503
“ตั้งแต่เกิดปัญหากระทบกระทั่งในบริเวณชายแดน นางสาวแพทองธาร ชินวัตรได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมบูรณาการเพื่อหารือและใช้ท่าทีร่วมกันในการแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ต้น ทำให้มาตรการทางการทูตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกลไกทางการทูตส่งเสริมการเจรจาของฝ่ายทหารบรรลุผลได้เป็นอย่างดี จนสามารถลดการเผชิญหน้ากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเจรจาจะมุ่งเน้นไปในการต่อยอด ขยายผลให้บริเวณที่ไม่ชัดเจนเพื่อพื้นที่ที่เรามีกิจกรรมร่วมกันอย่างสันติและไม่เกิดปัญหา ขอให้พี่น้องมั่นใจว่ากองทัพไทยมีศักยภาพให้การบริหารพื้นที่ การใช้นโยบายการต่างประเทศมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมมาตรการในการปฏิบัติ สอดรับและสามารถทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ และทำให้กลไกการใช้ปัญหาทวิภาคีหลายกลไกให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน”
เมื่อถามว่า ท่าทีของไทยเป็นอย่างไรหลังจากที่กัมพูชาขอให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวที่ศาลโลก นายมาริษตอบว่า การแก้ไขปัญหาระหว่างสองประเทศ แม้กระทั่งในกรอบของสหประชาชาติมีหลายกลไก เรายืนยันว่ากลไกที่มีประสิทธิภาพคือการแก้ไขปัญหาทวิภาคีดั่งที่เรามีทั้งเจบีซี, อาร์บีซี และจีบีซี ไม่ใช่การไปที่ศาลโลก