ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาติณรงค์ วิสุตกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารการแสดงดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการวิเคราะห์คำพูดและภาษากายของนายกรัฐมนตรีต่อกรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ในมุมมองของนักนิเทศศาสตร์ว่า สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชาในเดือนมิถุนายน 2568 จากกรณีพิพาทพื้นที่ชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหาร ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งในมิติความมั่นคงและจิตวิทยาสาธารณะ คำพูดและท่าทีของผู้นำประเทศมีบทบาทสำคัญในการสะท้อนท่าทีของรัฐต่อประชาชนและประชาคมโลก โดยเฉพาะการแสดงออกผ่านวัจนภาษา (verbal language) และอวัจนภาษา (non-verbal language) ของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาติณรงค์ กล่าวว่า วัจนภาษา คือคำพูดที่สะท้อนจุดยืนหรือข้อจำกัด โดยนายกรัฐมนตรีไทยเลือกใช้ถ้อยคำที่เน้นความสัมพันธ์ ความสงบ และกระบวนการ เช่น 'ขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการเจรจา' หรือ 'เราไม่ต้องการใช้ความรุนแรง' แม้ฟังดูเหมาะสมในทางการทูต แต่ในบริบทที่ประชาชนรู้สึกถูกคุกคามจากเพื่อนบ้านที่เล่นไม่ซื่อ คำพูดเหล่านี้กลับถูกมองว่า อ่อนแอ ขาดพลัง และไม่ยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะประโยคว่า 'ฮุนเซนคือเพื่อน' ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะแม้จะมีความสัมพันธ์ส่วนตัว แต่การกระทำของอดีตผู้นำกัมพูชา เช่น การยื่นเรื่องต่อศาลโลก หรือการยกระดับกิจกรรมทางทหาร ล้วนเป็นการกดดันไทยอย่างชัดเจน
ด้านรัฐมนตรีกลาโหมไทยก็แทบไม่มีคำแถลงการณ์ที่ชัดเจน และเมื่อให้สัมภาษณ์ก็มักใช้ถ้อยคำในเชิง 'ประสานความเข้าใจ' มากกว่า 'ปกป้องอธิปไตย' ซึ่งทำให้ขาดแรงส่งในระดับจิตวิทยาสาธารณะ ซ้ำยังมีคำกล่าวที่ว่า 'ขอบคุณทหารกัมพูชา' ที่ยอมถอนกำลังออกไป ซึ่งฟังดูอ่อนน้อมและประนีประนอมเกินควรในสายตาประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาติณรงค์ กล่าวต่อว่า อวัจนภาษา หรือท่าทีที่ไร้น้ำหนัก ภาษากายที่ไม่มั่นใจ ภาพลักษณ์ของผู้นำในภาวะวิกฤตไม่ได้ขึ้นอยู่กับถ้อยคำเท่านั้น แต่อวัจนภาษาก็มีผลอย่างมาก นายกรัฐมนตรีไทยมีท่าทีสงบ ยิ้มบาง ๆ พูดด้วยโทนเสียงเรียบ ไม่แสดงความเคร่งขรึมหรือหนักแน่นเมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ที่กระทบต่ออธิปไตยของประเทศ ขณะที่ผู้นำกัมพูชาแสดงออกอย่างมั่นใจ แข็งกร้าว และใช้โทนเสียงเฉียบขาด ความแตกต่างนี้สะท้อนความไม่สมดุลของภาวะผู้นำ ในสายตาสาธารณชน
"รัฐมนตรีกลาโหมออกแถลงการณ์แค่ช่วงเวลาสำคัญ เช่น วันที่ 7 มิ.ย. แต่ยังไม่ปรากฏภาพลงพื้นที่หรือแถลงข่าวอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤต ทำให้ภาพลักษณ์สาธารณะยังดู 'คลุมเครือ' และขาดความหนักแน่นแบบที่ประชาชนคาดหวังจากผู้นำด้านความมั่นคง ภาษากายที่ปรากฏจึงสะท้อน 'ความไม่พร้อม' และ 'ความไม่มั่นใจ' ของผู้นำไทยในห้วงวิกฤต ผลสะเทือนต่อความรู้สึกและศรัทธาของประชาชน ในเวลาที่ประชาชนต้องการผู้นำที่เข้มแข็งและยืนหยัด คำพูดและท่าทีที่ขาดน้ำหนักกลับกลายเป็นชนวนให้เกิดความผิดหวัง ความกังวล และการตั้งคำถามถึง ความกล้าหาญในการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย เสียงสะท้อนจากสังคมออนไลน์เต็มไปด้วยวลีอย่าง 'รัฐบาลไทยตามเกมกัมพูชาไม่ทัน' หรือ 'มิตรแท้ไม่ควรแทงข้างหลัง' คำพูดเหล่านี้สะท้อนความรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ได้ยืนอยู่ข้างประชาชน และไม่สามารถแสดงจุดยืนที่มั่นคงได้ทันต่อสถานการณ์ ภาวะผู้นำที่สื่อสารได้ต้องมีความกล้าหาญ แสดงออกอย่างสม่ำเสมอ และมีความจริงใจ ภายใต้ภาวะอ่อนไหวต่ออธิปไตยของชาติ"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาติณรงค์ กล่าวด้วยว่า ผู้นำควรใช้ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษาอย่างมีจังหวะ มีพลัง และสอดคล้องกับอารมณ์ของประชาชน คำพูดอย่าง 'เราจะยืนหยัดปกป้องแผ่นดินไทย' หรือ 'รัฐบาลจะไม่ยอมให้ไทยตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบ' ย่อมให้พลังและความหวังมากกว่าคำอย่าง 'เรายังเป็นเพื่อนกัน' หรือ 'เชื่อมั่นในกระบวนการเจรจา' เพราะหากคำพูดกับการกระทำไม่สอดคล้องกัน ความเชื่อมั่นย่อมพังทลาย และความสงบที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการ ก็ไม่ต่างจากการยอมจำนนโดยสมัครใจ ในภาวะเช่นนี้ ผู้นำจึงต้องไม่เพียงแค่พูดให้ได้ยินเท่านั้น แต่ต้องพูดในสิ่งที่ประชาชนเชื่อ และลงมือทำในสิ่งที่ประชาชนหวัง