จากปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ พ่นพิษรุมเร้า ในลักษณะ “ไฟสุมขอน” ก่อนปะทุคุเป็น “ไฟลุกโชน” ในปรากฏการณ์ “ม็อบ” ที่ชุมนุมประท้วงจนกลายเป็น “วิกฤติ” ใน “เวเนซุเอลา” ประเทศเจ้าของฉายา แดน “สาวงาม” ให้โลกต้องเฝ้าจับตากันเป็นพิเศษ ณ ชั่วโมงนี้ ภายหลังจาก “พิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2” ของ “นายนิโคลัส มาดูโร” ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่า “ม็อบ” ของประชาชนฝ่ายต่อต้าน ที่มีบรรยากาศรุมๆ กรุ่นๆ เป็นทุนเดิม ด้วยความไม่พอใจในตัวของนายมาดูโรกันอยู่แล้ว จากผลพวงของเศรษฐกิจที่ตกต่ำดิ่งด่ำใต้เหวหายนะ อันสืบเนื่องจากการบริหารประเทศของเขา ตั้งแต่สมัยแรกแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2556 รับมรดกตกทอดทางการเมืองมาจาก “ฮูโก ชาเวซ” ผู้ล่วงลับ กอปรกับผลเลือกตั้งเมื่อเดือ พ.ค. ปีที่แล้ว ที่หลายฝ่ายเห็นว่า นายมาดูโร โกงเลือกตั้ง ปล้นชัยชนะ จนได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย สวนทางกับฝ่าย “นิติบัญญัติ” ที่ปรากฏว่า ผู้สมัครของทาง “พรรคเจตจำนงปวงชน (Popular Will Party)” ฝ่ายค้าน ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทะลาย จนส่งให้นักการเมืองหนุ่มวัยเพียง 35 ปี อย่าง “นายฆวน กัวอิโด” วิศวกรด้านอุตสาหกรรม ผู้มีดีกรีจบการศึกษาจาก “มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน” ในสหรัฐฯ ซึ่งหันมาเอาดีในถนนสายการเมือง ก็ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง “ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” นั่นเอง นายฆวน กัวอิโด ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเวเนซุเอลา ผู้ประกาศสถาปนาตนเองเป็น “ประธานาธิบดีเฉพาะกาล” ของเวเนซุเอลา ปรากฏการณ์แห่งการชุมนุม ได้ทวีความดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้น “มีปะทะ” ระหว่างกลุ่มม็อบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ถึง ณ เวลานี้ อย่างน้อย 26 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง โดยความรุนแรงในสถานการณ์ ก็ถึงขนาดทำให้ “สันตะปาปา” หรือ “โป๊ป” ฟรานซิส ประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งอยู่ระหว่างเสด็จฯ เยือนประเทศปานามา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรงนำคริสตศาสนิกชน สวดมนต์ขอให้แก่ประชาชนชาวเวเนซุเอลา ที่กำลังได้รับความทุกข์ทรมานจากวิกฤติการเมืองข้างต้นให้รอดพ้นไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แห่งม็อบ หรือจะเรียกว่า “การเมืองบนท้องถนน” ในแดนสาวงาม ยังคงดำเนินต่อไปในหลายพื้นที่ ขณะที่ ฟาก “การเมืองในสภา” ก็ปรากฏว่า นายกัวอิโด ได้ประกาศ “สถาปนาตนเอง” ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดีเฉพาะกาล” หรือ “รักษาการประธานาธิบดี” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกันนั้น ทางนายกัวอิโด ระบุถึงเหตุผลด้วยว่า เป็นเพราะนายมาดูโร ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งอย่างไม่ชอบธรรม หรือโกงการเลือกตั้งมานั่นเอง ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา เมื่อนายมาดูโร “ปล้นอำนาจ” มาเช่นนี้ ก็ไม่มีความชอบธรรมอีกเช่นกันในการที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ด้วยประการฉะนี้ ตำแหน่งประธานาธิบดี ณ เวลานี้ จึงถือได้ว่า “ว่างลง” และก็เป็นช่องทางให้นายกัวอิโด ประกาศสถาปนาตนเองขึ้นเป็น “ประธานาธิบดีเฉพาะกาล” โดยอ้างตัวบทกฎหมาย ที่ระบุว่า มาตรา 233 และ 333 ในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า “ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สามารถรับหน้าที่ประธานาธิบดีได้ หากตำแหน่งว่างลง อย่างไรก็ดี ได้มีบรรดานักวิเคราะห์จำนวหนึ่ง แสดงทรรศนะว่า ไม่ผิดอะไรกับการยึดอำนาจด้วยยุทธวิธีรูปแบบใหม่ในแวดวงการเมืองของเวเนซุเอลา และน่าจะมีการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจมา “ชงประเด็น” นำเสนอ หรืออย่างน้อยก็มาร่วมแจมก็เป็นได้ ทว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ผลพวงจากการ “ประกาศสถาปนาตนเอง” ขึ้นเป็น “รักษาการประธานาธิบดี” ข้างต้น ก็ทำให้บรรดานานาชาติที่เชียร์แบบลับๆ ไม่ออกนอกหน้าแก่การเมืองแต่ละฝ่ายในเวเนฯ ต้องเผยโฉมปรากฏตัวออกมา เริ่มจาก “สหรัฐอเมริกา” ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาสนับสนุนต่อนายกัวอิโด ก่อนที่ชาติอื่นๆ ประกาศตัวว่าสนับสนุนฝ่ายค้านเวเนฯ ในเวลาต่อมา ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา บราซิล คอสตาริกา อาร์เจนตินา เปรู โคลอมเบีย เอกวาดอร์ ชิลี สเปน และองค์การนานารัฐอเมริกัน หรือโอเอเอส ขณะเดียวกัน ทางด้านฝ่ายนายมาดูโร ก็ไม่น้อยหน้า เพราะชาติมหาอำนาจของอีกฟาก ประกาศให้ความสนับสนุนให้ขึ้นนั่งบัลลังก์ประธานาธิบดีสมัยสองนี้ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น “รัสเซีย” ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่เซย์ฮัลโหล ต่อสายโทรศัพท์ ประกาศให้ความสนับสนุน รวมถึงพลพรรคทำเนียบเครมลิน ออกมาประณามสหรัฐฯ แทรกแซงการเมืองเวเนฯ อีกต่างหากด้วย ใช่แต่เท่านั้น ยังมี “พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่” อีกหนึ่งชาติมหาอำนาจ และตุรกี อิหร่าน และซีเรีย ที่เลือกข้างแล้วว่า จะอยู่ฟากนายมาดูโร อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า มหาอำนาจชาติใดจะเชียร์ใคร ก็ยังไม่มีผลเท่ากับ “กองทัพ” ของเวเนฯ เองว่า จะเลือกข้างใคร จนถือเป็นผู้กุมชะตา ความเป็นไปในทางการเมืองของเวเนฯ ณ ชั่วโมงนี้อย่างแท้จริง ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานว่า ทางสายการบังคับบัญชาไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศให้ความสนับสนุนต่อนายมาดูโรอย่างชัดแจ้ง ทว่า ในขณะเดียวกัน ทางทหารระดับปฏิบัติการก็มีอีกจำนวนหนึ่งเช่นกัน ที่ลอบยืนเคียงข้างประชาชน ด้วยการเปิดทางให้แก่กลุ่มผู้ประท้วง แทนที่จะสลายการชุมนุมตามคำสั่ง ก็ยิ่งทำให้เพิ่มการจับตาต่อสถานการณ์วิกฤติการเมืองในแดนสาวงามอีกเท่าทวีคูณว่าจะเป็นไปอย่างไรต่อ นายวลาดิเมียร์ ปาดริโน โลเปซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเวเนซุเอลา ประกาศให้ความสนับสนุนต่อนายนิโคลัส มาดูโร ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลา