เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.68 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรม วันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day 2025) ภายใต้แนวคิด ASEAN United: Zero dengue death, a future we build together อาเซียนร่วมใจ สร้างอนาคตปลอดภัย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยนายมาซาโตะ โอตากะ เอกอัศรราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าร่วม โดยภายในงาน ได้จัดให้มีการเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ "Road to Zero Dengue Deaths: Challenges and Way Forwards"

นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแนวทางจัดการโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยว่า แนวทางดังกล่าวอยู่ในยุทธศาสตร์การจัดการโรคติดต่อนำโดยแมลง พ.ศ. 2566-2575 ประกอบด้วย 1.พัฒนานโยบาย มาตรการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง 2.ยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และจัดการภาวะฉุกเฉินตามมาตรฐานสากล 3.เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ของระบบการป้องกัน ควบคุมโรค 4.ขับเคลื่อนภาคีเครือข่าย และประชาชน ร่วมรับผิดชอบและมีบทบาทในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค 5.พัฒนากำลังคนด้านเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค

ปัจจุบันมีเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ 1.กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค 2.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 3.ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง (ศตม.) 38 แห่ง 4.หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง (นคม.) ทั้งหมด 116 แห่ง กระจายอยู่ใน 48 จังหวัด นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียใน 8 จังหวัด ในภาคตะวันตกของประเทศไทยด้วย ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้

ด้านสถานการณ์ไข้เลือดออกล่าสุด พบว่า ปี 2567 พบผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน 1.5 เท่า โดยปี 2566 พบผู้ป่วย 158,620 ราย เสียชีวิต 181 ราย ส่วนปี 2567 พบผู้ป่วย 105,250 ราย เสียชีวิต 90 ราย ปัจจุบัน ปี 2568 พบผู้ป่วย 11,198 ราย เสียชีวิต 14 ราย พื้นที่ที่พบและเฝ้าระวัง เช่น จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยาว์ เป็นต้น

ในช่วง 4 เดือนนี้ (มิ.ย.-ก.ย.) ตลอดฤดูฝน ได้เน้นมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผู้ป่วยไม่เกิน 100,000 ราย ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ สำรวจทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลายให้มีค่า HI, CI น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยมีการติดตามผลผ่าน SMART อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2.ควบคุมโรคได้ตามมาตรการ 3-3-1 และมีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ และการใช้สารทากันยุง 3.การวินิจฉัยรักษา รพ.สต. ตรวจผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายด้วย NS1 ไม่น้อยกว่า 150,000 คน 4.การสื่อสารความเสี่ยง ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยา NSAIDs

"ปัจจุบันเข้าหน้าฝนแล้ว และฝนตกหนักมาก พี่น้องทางภาคเหนือไล่ลงมา ต้องควบคุม ให้มีลูกน้ำยุงลายน้อยลง หากมีผู้ป่วยต้องเข้าไปควบคุมพาหะ คนป่วยต้องทายากันยุง เพื่อไม่ให้ยุงมากัดเราแล้วมีเชื้อแพร่กระจายไปถึงคนอื่น และไม่เดินทางไปหลายพื้นที่ทำให้เกิดการระบาดของโรค" นายแพทย์นิติ กล่าว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี ประธานความร่วมมือ Dengue-zero กล่าวว่า พันธมิตรเครือข่ายความร่วมมือ Dengue-zero ทั้ง 11 องค์กรในภาครัฐและเอกชน ตั้งเป้าลดผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกเป็น 0 ราย ภายในปี 2570 และภายใน 5 ปีนี้ ต้องลดผู้ป่วยไม่เกิน 60,000 รายต่อปี อัตราเสียชีวิตน้อยกว่าปีละ 6 ราย ซึ่งต้องร่วมมือกับประชาชน อสม. และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในการลดจำนวนยุงน้อยกว่า 5 บ้าน จาก 100 บ้าน โดยแนวทางต่าง ๆ มีการดำเนินตามแผนประจำอยู่แล้ว เช่น ให้ความรู้ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ให้ตระหนักว่าไข้เลือดออกอยู่ไม่ไกลจากตัว โดยเฉพาะผู้เป็นไข้เลือดออกห้ามกินยาแอสไพริน ยาหม้อ ยาต้มต่าง ๆ อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น

ส่วนแนวทางเพิ่มเติมใหม่ในปีนี้ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ โดยคณะกรรมการกองทุนเยียวยาฯ จัดโครงการประกวดประสิทธิภาพในการควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลาย ในพื้นที่ กทม.ทั้ง 50 เขต ซึ่งมี อสส. ในพื้นที่กว่า 60 ศูนย์ หากเขตใดมีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หรือมีค่า CI (Container Index) ดัชนีลูกน้ำยุงลายน้อยที่สุด อสส.จะได้รับรางวัล 100,000 บาท ซึ่งแบ่งการประกวดเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 3 เดือน คือ ช่วงเม.ย.-มิ.ย. ช่วงมิ.ย.-ส.ค. และช่วงส.ค.-ต.ค. แต่ละช่วงมีรางวัล 100,000 บาทให้กับ อสส. หากเขตใดมีค่า CI น้อยที่สุดติดต่อกันทั้ง 3 ช่วง ก็รับรางวัล 300,000 บาท เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกที่พบส่วนใหญ่พบค่า CI สูงในพื้นที่อาศัย

สำหรับโครงการดังกล่าวเริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ หากผลดำเนินการได้รับความร่วมมือและได้ผลเป็นอย่างดี ก็อาจขยายไปพื้นที่อื่นในอนาคต เช่น ภาคเหนือ ตะวันออกและตก ที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนเรื่องวัคซีน หากมีการวิจัยและนำมาใช้อย่างเป็นทางการ เชื่อว่าจะลดอัตราป่วยและเสียชีวิตได้ยิ่งขึ้น คาดว่าในอนาคตอันใกล้น่าจะมีการนำมาใช้ในประเทศไทย

ด้านนายสุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกสร้างผลกระทบต่อประชาชนและระบบสาธารณสุขในวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีประชากรหนาแน่น การควบคุมโรคจึงต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยกทม. ให้ความสำคัญกับโรคไข้เลือดออกมีการผลักดันนโยบายโดยผู้บริหารกทม. และติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิดผ่านศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ไข้เลือดออกในระดับพื้นที่เขต

ในกรณีมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.จะทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการควบคุมป้องกันโรค เพื่อมุ่งทำลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เช่น กิจกรรม Big Cleaning กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากยุงลาย ตลอดจนการให้ความรู้แก่ประชาชน และการเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้การรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน จะใช้ 4 มาตรการหลัก ดังนี้ 1.เฝ้าระวังโรค 2.ควบคุมยุงพาหะ 3.วินิจฉัยรักษาเร็ว และ 4.สื่อสารลดความเสี่ยง หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์ทันทีห้ามซื้อยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAID รับประทานเอง เพราะเสี่ยงเลือดออกจนเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม กทม.พร้อมทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมมือมุ่งสู่เป้าหมายเสียชีวิตเป็นศูนย์