(9 มิ.ย.68) นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง เปิดเผยว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ทำการศึกษาหลักเกณฑ์การจัดทำช่องทางรถจักรยานยนต์ (MC Lane) บนพื้นที่สะพานข้ามแยก อุโมงค์ทางลอด และถนนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร เนื่องด้วยอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ถือเป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด และมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ (กลุ่มงานสถิติและวิจัย กองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง) พบว่า ยอดผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์สูงถึง 700 รายต่อปี หรือคิดเป็น กว่าร้อยละ 84 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ

เมื่อพิจารณารายเดือน พบในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เฉลี่ย 50-76 คนต่อเดือน และพื้นที่บริเวณจุดเกิดเหตุ พบ ส่วนใหญ่เกิดในช่วงทางตรง สูงถึงร้อยละ 71 เกิดบริเวณทางร่วมทางแยก และจุดกลับรถ ร้อยละ 13 เกิดบริเวณสะพานและอุโมงค์ ร้อยละ 8 และเกิดบริเวณทางโค้ง ร้อยละ 7

ดังนั้น สจส.จึงได้ศึกษาหลักเกณฑ์การจัดทำช่องทางรถจักรยานยนต์ (MC Lane) สำหรับพื้นที่ กทม. เพื่อทดลองการใช้เลนรถจักรยานยนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแยกรถจักรยานยนต์ออกจากรถขนาดใหญ่ และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรง โดยพิจารณาการออกแบบช่องทางรถจักรยานยนต์ ประกอบด้วย สภาพปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำช่องทางรถจักรยานยนต์ การพิจารณาผลกระทบด้านการจราจร การพิจารณาจุดตัด กระแสจราจร (เพื่อลดโอกาสการชน) การพิจารณาตำแหนงของช่องทางพิเศษที่เหมาะสม รวมทั้งข้อสรุปแนวทางการออกแบบบช่องทางรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีทั้งข้อควรระวัง ความเสี่ยงและสิ่งที่ต้องคำนึง

สำหรับการพิจารณาการออกแบบช่องทางรถจักรยานยนต์ ดังนี้ 1.การจัดช่องรถจักรยานยนต์ (MC Lane) อาจมีผลกระทบสภาพการจราจรต่อรถประเภทอื่น ๆ ได้โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่มีสภาพการจราจรหนาแน่น การจราจรติดขัด จำเป็นต้องมีการพิจารณาผลกระทบจราจรควบคู่ไปด้วย

2.การจัดช่องรถจักรยานยนต์ (MC Lane) สามารถสร้างความปลอดภัยจากการแยกรถจักรยานยนต์ออกจากรถขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้ อาจทำให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วรถที่สูงขึ้น ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน ดังนั้น จำเป็นต้องมีการควบคุมความเร็วในการขับขี่ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ควบคู่ไปด้วย

3.สำหรับบริเวณช่วงเปลี่ยนช่องจราจร ช่วงตัดสลับ หรือบริเวณทางเชื่อม/ทางแยก มีโอกาสที่จะเกิดการตัดกระแสจราจร ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้ 4.การจัดช่องรถจักรยานยนต์ (MC Lane) เหมาะสำหรับถนนที่เป็นช่วงถนน มีระยะทางยาวไม่มีจุดตัดทางแยก/ทางเชื่อม (หรือมี แต่ไม่มากจนเกินไป) และควรมีการควบคุมการเชื่อมต่อทางแยก/ทางเชื่อมระหว่างถนนสายหลัก-สายรองที่เหมาะสม

นายสิทธิพร กล่าวต่อว่า สจส.ได้ดำเนินโครงการนำร่องช่องทางรถจักรยานยนต์ (MC LANE) บริเวณเส้นทางสุขุมวิทสายเก่าปากน้ำ ช่วงแยกทางรถไฟ – สุดเขตกรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ช่องทางนี้ถูกออกแบบเฉพาะสำหรับรถจักรยานยนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปะปนกับยานพาหนะประเภทอื่น ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดความแออัด และส่งเสริมการใช้ถนนอย่างมีระเบียบ ซึ่งเส้นทางนำร่องที่ได้รับการคัดเลือก ได้พิจารณาจากพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น จุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และมีปริมาณรถจักรยานยนต์สูง รวมถึงลักษณะทางกายภาพของถนนที่มีระยะทางยาว ไม่มีจุดตัดกระแสจราจร ไม่มีปัญหาการจอดรถริมทาง

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯกทม.มอบหมายให้ สจส. คัดเลือกเส้นทางเพื่อจัดทำ MC LANE เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ที่ช่วยให้ถนนของกรุงเทพฯ เป็นระเบียบ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับผู้ขับขี่มากยิ่งขึ้น

​​​​​​​