“กฤษฏา" ใจกว้างเปิดทางม็อบต้านเขื่อนวังหีบ-เขื่อนเหมืองตะกั่ว ตั้งคณะงานร่วมชาวบ้าน นักวิชาการ ทบทวนโครงการใหม่ หากไม่เห็นชอบ พร้อมยกเลิก ด้านม็อบยังแสดงพลังเคลื่อนไหวใหญ่พรุ่งนี้ ไปหน้าทำเนียบฯ จี้นายกฯ ตัดสินใจยกเลิกโครงการเขื่อนวังหีบ รักษาป่าโบราณผืนสุดท้ายของประเทศไว้ วันนี้ (27 ม.ค.62) นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุง มาปักหลักชุมนุมอยู่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าสู่วันที่ 3 พร้อมเฟซบุ๊กไลฟ์ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ 4 โครงการประกอบด้วย โครงการเขื่อนคลองสังข์ โครงการเขื่อนวังหีบ โครงการคลองผันน้ำเมืองนคร และโครงการประตูกั้นน้ำปากประ ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำรุนแรง ตำหนิหน่วยงานรัฐนั้น ว่าล่าสุดตนสั่งการให้ ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ใช้ความอดทนและอดกลั้น ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาด้วยถ้อยคำใดๆ ขอให้ชี้แจงไปตามข้อเท็จจริงและระเบียบกฎหมาย อย่าได้โต้ตอบด้วยถ้อยคำหรือการกระทำที่รุนแรงอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ย้ำว่า ชาวบ้านที่เดินทางมายังมีข้อข้อสงสัยในรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินการตามโครงการ ดังนั้นหน้าที่ของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ในขณะนี้คือ ชี้แจงรายละเอียดที่ชาวบ้าน รวมถึงประชาชนทั้งประเทศให้เข้าใจในข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องทั่วถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการที่ทางเครือข่ายระบุว่า รัฐจะเดินหน้าโครงการต่อ โดยไม่ฟังข้อท้วงติงของชาวบ้านในพื้นที่นั้น ยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ดึงดันเดินหน้าต่อ เนื่องจากเข้าใจในความเดือดร้อนของประชาชน ได้สั่งการให้กรมชลประทาน ส่งรายละเอียดแผนงาน ผลการศึกษา และขั้นตอนต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วรายงานมา ซึ่งแนวทางที่กรมชลประทานระบุถึง โคงการประตูกั้นน้ำปากประ จังหวัดพัทลุง เดิมมีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน เมื่อปี 2555 ว่า ทำการเกษตรแล้วมีปัญหาน้ำเค็มรุก จึงได้กำหนดแผนป้องกัน แต่หากชาวบ้านขอให้ยกเลิก ไม่ให้มีการออกแบบโครงการใดๆ โดยระบุว่า คลองปากประไม่มีปัญหาน้ำเค็มรุกแล้ว ภาครัฐประสงค์จะลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน หากเห็นตรงกันว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำโครงการใดๆ ในเวลานี้ กรมชลประทานยืนยัน จะยกเลิกประตูกั้นน้ำปากประ นายกฤษฎา กล่าวว่า ส่วนโครงการอื่นๆ ก็เช่นกัน รัฐให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงต้องการให้มาร่วมกันตั้งเป็นคณะทำงาน ประกอบด้วย ชาวบ้าน กรมชลประทาน อาจมีนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมด้วยตามที่ชาวบ้านต้องการ เมื่อมีความเห็นตรงกันว่า ส่วนใดของโครงการไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ภาครัฐจะแก้ไข ส่วนใดที่ประชาชนยังเดือดร้อนอยู่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ แต่เห็นตรงกันว่า สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นได้ จะทบทวน ไม่ดื้อดึงที่จะเดินหน้าตามผลการศึกษาเดิม นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับเรื่องงบประมาณโครงการที่ตั้งไว้นั้น ตั้งมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทางเครือข่ายฯ ระบุว่า ตั้งงบประมาณสูงนั้น หากตั้งคณะทำงานร่วม แล้วพบว่า ไม่สมควรทำโครงการขนาดใหญ่ เปลี่ยนเป็นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ งบประมาณต้องลดลงตามขนาดและปริมาณงาน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ จังหวัดพัทลุง ซึ่ง ครม. อนุมัติงบ 2,300 ล้านบาท ถ้าตรวจสอบร่วมกันแล้วปรากฏว่า แนวทางการแก้ไขจะไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่หรือตัด ปรับ ส่วนใดออก งบประมาณจะต้องปรับลดลงแน่นอน “กระทรวงเกษตรฯ ยินดีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม หากชาวบ้านร่วมกับภาครัฐเพื่อสำรวจพื้นที่ตามแผนการดำเนินงานอย่างละเอียด แล้วพบว่า มีส่วนใดไม่ถูกต้อง สามารถชี้ให้ภาครัฐแก้ไขได้ทันที”นายกฤษฎากล่าว ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้รับคำสั่งจากนายกฤษฎา ให้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุงตามประเด็นข้อสังเกตและข้อสงสัยของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้เตรียมข้อมูลผลการศึกษาและข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงแผนงานที่ได้ดำเนินการมาเพื่อชี้แจงให้ทั้งทางเครือข่ายฯ ชาวบ้านในพื้นที่ และประชาชนทั้งประเทศได้รับทราบ ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ม.ค.62 ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้พูดคุยกับเครื่อข่ายฯ แล้ว โดยจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของชาวบ้านมาทบทวนและจัดเตรียมข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อทำความเข้าใจกัน อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า หากทางเครือข่ายฯ ร่วมกับภาครัฐเพื่อทบทวนโครงการและมีความเห็นตรงกันว่า แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งและพัฒนาแหล่งน้ำในภาคใต้ที่เหมาะสมควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ จึงจะดำเนินการต่อไป ดร.ทองเปลว กล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการที่ดำเนินการมาเป็นขั้นตอนการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่หากทางเครือข่ายฯ มองว่า ยังทำไม่สมบูรณ์ หรือขาดตกบกพร่องทางกรมชลประทาน พร้อมดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมใหม่ โดยไม่ดึงดันเดินหน้าโครงการต่อโดยที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน ขณะที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ทางเครือข่ายฯ มีข้อกังวลนั้น กรมชลประทาน ยืนยันว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นขั้นตอนที่จะทำ หลังจากที่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมทบทวนโครงการแล้วทั้ง 4 โครงการ ทั้งนี้ ล่าสุด ทางเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุง ได้ออกแถลงการณ์ยืนยัน ให้รัฐทบทวนโครงการทั้ง 4 โครงการใหม่ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (28 ม.ค.62) เวลา 10.00 น.ต้องการให้นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยกเลิกโครงการเขื่อนวังหีบ เพราะกระทบโดยตรงกับความเป็นอยู่ชาวบ้านต้องอพพย จากที่อยู่ที่ทำกิน และเพื่อปกป้องผืนป่าโบราณผืนสุดท้ายของประเทศไว้ อนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชนยั่งยืนกว่ามีเขื่อน ทางด้าน นายเจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุง กล่าวว่า ได้รับทราบนโยบายของรัฐมนตรีว่าการเกษตรฯ แล้ว ซึ่งจะได้นำมาหารือด้วย