สุดสัปดาห์นี้ลานบ้านกลางเมือง“บูรพา โชติช่วง”พาไปชมวัดโพธิ์ประทับช้างจังหวัดพิจิตร
วัดโพธิ์ประทับช้าง
ศิลปกรรมบ้านพลูหลวง
จังหวัดพิจิตรในมุมโบราณสถานวัดที่สำคัญมีอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนี้คือ วัดโพธิ์ประทับช้าง
วัดโพธิ์ประทับช้างตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านเก่า ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ชาวท้องถิ่นให้ความสำคัญโบราณสถานวัดแห่งนี้มาก เพราะเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระเจ้าเสือ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8) หรือ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (คำให้การชาวกรุงเก่า พระมหากษัตริย์องค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงของกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2246 – 2251, วิกิพีเดีย) และจากข้อมูลประวัติวัด ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2242 – 2244 ในรัชสมัยของพระองค์
ภายในเขตโบราณสถานมากไปด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆ จากข้อมูลสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย บอกลักษณะแผนผังการใช้พื้นที่ แบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก คือ เขตพุทธวาส และเขตสังฆาวาส
เขตพุทธาวาส ล้อมรอบด้วยคูน้ำและกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูเข้า 4 ด้าน ภายในกำแพงประกอบด้วย พระอุโบสถ (ประธานของวัด หันหน้าลงสู่แม่น้ำน่านเก่าทางด้านทิศตะวันตกไหลผ่าน เส้นทางคมนาคมในสมัยนั้น) เจดีย์คู่ ปรางค์ราย มณฑป ศาลาราย และฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขนาดเล็กเรียงรายอยู่ข้างกำแพง สันนิษฐานว่าอาจเป็นเจดีย์รายหรือแท่นประดิษฐานรูปเคารพ ที่นอกกำแพงด้านทิศเหนือมีฐานอาคารเล็ก 1 หลัง น่าจะเป็นวิหารน้อย และด้านทิศใต้ยังมีวิหารและเจดีย์รายอีก 1 องค์
เขตสังฆาวาส อยู่นอกคูน้ำ บริเวณด้านทิศเหนือมีแนวเสาอาคารขนาดใหญ่ เชื่อว่าเป็นศาลาเก้าห้อง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ด้านทิศใต้เป็นกลุ่มอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นหมู่กุฎิสงฆ์
จากข้อมูลเดียวกัน ทำให้รู้ว่าการแบ่งเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส มีปรากฏในสมัยสุโขทัย เช่นที่วัดช้างล้อม วัดนางพญา วัดเจดีย์เจ็ดแถว ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เช่นกันที่วัดอาวาสใหญ่ ในอุทยานฯ กำแพงเพชร และในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นที่วัดพระยาแมน
พระอุโบสถวัดโพธิ์ฯ มีขนาดใหญ่ ลักษณะเปลือยก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานไพที กว้าง 36 เมตร ยาว 50 เมตร องค์อุโบสถมีขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร (รวมมุขเด็จหน้า-หลัง) จากข้อมูลบอกลักษณะอุโบสถสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่นับแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ช่าง สถาปนิกฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาสร้างป้อม พระราชวัง อาคารต่างๆ จึงเกิดความนิยมแบบแผนการก่อสร้างแบบยุโรปทั่วไป สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารระบุว่าสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อเปรียบเทียบกับพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม วัดพระยาแมน ในพระนครศรีอยุธยา มีแบบแผนคล้ายคลึงกันมาก
ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ชาวบ้านนิยมเรียก “หลวงพ่อโต” ประทับบนชุกชี ฐานสิงห์ย่อมุมสิบสอง ลักษณะฐานแอ่นโค้งอยุธยาตอนปลาย
ด้านนอกพระอุโบสถมีใบเสมาขนาดเล็กตั้ง 8 ทิศ จำหลักจากหินทราย เอวเสมาเป็นตัวเหงานกเปลว มีแถบเส้นขนาดใหญ่ บริเวณกลางใบเสมา เรียกว่า “นมเสมา” ใบเสมาตั้งอยู่บนแท่นฐานก่ออิฐย่อมมุมสิบสองเป็นฐานสิงห์ ใบเสมานี้มีลักษณะคล้ายกันที่วัดบรมพุทธาราม วัดพระยาแมน ในพระนครศรีอยุธยา
จากข้อมูลเดียวกันได้ชี้ให้เห็นว่า โบราณสถานวัดและสิ่งก่อสร้างต่างๆ นับเป็นหลักฐานและเหมาะแก่การศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478
วัดโพธิ์ประทับช้าง ศิลปกรรมราชวงศ์บ้านพลูหลวง